จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เสริมหน้าอก ให้นมลูกได้หรือไม่



เรื่องความสวยความงานเป็นเรื่องยอมกันไม่ได้สำหรับผู้หญิงเราค่ะ หลายคนจึงตบเท้าเข้าพึ่งมีดหมอ ถ้าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องของหน้าอกหน้าใจนี่สิต้องคิดหนักหน่อย เพราะหลายคนสงสัยว่าถ้าไปทำอึ๋มมาแล้ว จะให้นมลูกเองได้ไหมน้า... ถ้าอย่างนั้นเราไปหาคำตอบด้วยกันดีกว่านะคะ
    ความกังวลต่อการผลิตน้ำนม        การผ่าตัดเต้านมที่จะพูดถึงนี้ เป็นการทำศัลยกรรมตกแต่งเพื่อการลดหรือเพิ่มขนาดของเต้านม ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ เรื่องของการตัดเอาท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม และเส้นประสาทออกไปหรือไม่ เพราะอาจทำให้กลไกน้ำนมพุ่ง "Let Down Reflex" ขาดหายไป การส่งกระแสประสาทให้เกิดการสร้างน้ำนมก็จะลดลงหรือหายไปได้ ถ้ายังคงอยู่ดีก็ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับการให้นมค่ะ และยังสามารถใช้หลักการเดิม คือ 3 ดูด ดูดโดยเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี ยิ่งดูดมากน้ำนมยิ่งมากได้เหมือนเดิมค่ะ
        การเพิ่มขนาดเต้านมอาจทำโดยการสอดใส่ถุงน้ำเกลือ หรือถุงซิลิโคนเข้าไปใต้เต้านม สมัยนี้มักสอดเข้าบริเวณรักแร้หรือบริเวณอื่นที่ไม่มีการตัด ตกแต่งบริเวณหัวนม กลุ่มนี้มักไม่มีปัญหาจากการตัดท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ต่างจากกลุ่มที่ตัดหรือลดขนาดของเต้านม ที่มักมีการตกแต่งบริเวณหัวนม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีความแตกต่างกันตามเทคนิคที่แพทย์ แต่ละท่านทำและการให้ความสำคัญกับการให้นมลูก โดยเฉพาะคุณ ๆ ที่ตัดสินใจทำศัลยกรรมประเภทนี้ในวัยที่ยังอาจมีลูกได้ ถ้ายังไม่ทราบว่าผ่าตัดแบบไหนก็คงต้องถามแพทย์ที่ทำให้ค่ะ  คุณแม่ที่ผ่าตัดหน้าอกมาอาจลังเลว่า ให้นมลูกแล้วเต้านมจะเสียทรงจากที่ทำมา อันนี้คงต้องหยั่งใจตัวเองให้ดีว่าจะเลือกอะไร มีการผ่าตัดเสริมเต้านมหลายแบบ ที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบจากการให้ลูกกินนมจากเต้าเลย อาจกระทบบ้างจาการมีน้ำนมเพิ่มขึ้น ทำให้คัดตึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบ้างเล็กน้อยแบบที่ยอมรับได้

    จะเสริมหรือตัด ก็ไม่มีปัญหา...        โดยส่วนใหญ่จะพบว่า แม่หลังจากผ่าตัดเสริมเต้านม สามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้เท่ากับคนที่ไม่ได้ผ่าตัด มีบางรายที่มีอาการชาหรือหมดความรู้สึกที่บริเวณลานนม หรือหัวนมซึ่งอาจใช้เวลาในการฟื้นฟูกลับเป็นปกติได้ในเวลา 6 เดือนหลังผ่าตัด หรือบางรายอาจเป็นถึง 2 ปีแล้วแต่กรณี ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดอาจรู้สึกไม่มั่นใจว่า จะมีน้ำนมพอให้ลูกกินหรือไม่ ขอแนะนำให้ทำในสิ่งต่อไปนี้
  •  พยายามอย่าใช้ความรู้สึกเป็นตัวตัดสินดูที่สุขภาพลูกเป็นหลัก
  •  หมั่นให้ลูกกินนมอย่างสม่ำเสมอ กินอย่างถูกวิธี
  • สวมเสื้อยกทรงหรือมีสิ่งประคับประคองเต้านมไว้เสมอ โดยไม่ให้หลวมหรือคับแน่นจนเกินไป
  •  อย่าให้มีการดึงรั้งหัวนมหรือเต้านม เช่น การดึงเอาหัวนมออกจากปากลูก ฯลฯ
  • ดูแลตนเองโดยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อน และมีจิตใจที่แจ่มใส
  • ถ้าจำเป็นต้องกระตุ้นน้ำนมให้ลูกดูดกระตุ้นที่เต้าก่อนเสมอ
  • สามารถบีบเก็บน้ำนมด้วยมือหรือปั้ม เพื่อใช้เสริมให้ลูกในกรณีที่จำเป็น โดยให้นมลูกผ่านทางสายยางขนาดเล็ก หรือใช้หยดที่มุมปากตอนดูดจากเต้าก็ได้
  • ใช้การเสริมด้วยนมชงเป็นทางเลือกสุดท้าย ถ้าแสดงอาการน้ำนมที่ได้ไม่พอ
รู้ถึงการให้นมแม่หลังจากการทำศัลยกรรมเต้านมกันแล้วนะคะว่า เป็นอย่างไร คงจะช่วยคุณแม่ประกอบการตัดสินใจได้นะคะ ฉะนั้นก่อนที่จะตัดสินใจทำศัลยกรรมครั้งใด คุณแม่ควรจะพิจารณาถึงผลดีผลเสียอย่างถี่ถ้วนก่อนเป็นดีที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้วของปลอมไหนเลยจะสู้ของธรรมชาติให้มาได้ล่ะคะ

ที่มา ... modernmom

รองเท้าของคุณแม่ตั้งครรภ์





น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ประกอบกับท้องที่โตมากขึ้น ทำให้ร่างกายของแม่ท้องไม่สมดุลเหมือนเดิม เท้าต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้ง จะเดิน แต่ละทีก็ต้องระมัดระวังไปหมด แม้จะไม่คล่องแคล่วเหมือนก่อน คุณแม่ก็ลดภาระให้กับเท้าได้ด้วยตัวช่วยอย่าง "รองเท้า" ค่ะ
How to Choose
  • รองเท้าที่เหมาะที่สุดสำหรับแม่ท้อง คงหนีไม่พ้นประเภทที่ไม่มีส้นหรือส้นเตี้ย หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง ที่เพิ่มอาการปวดหลัง แถมยังอาจทำให้เท้าพลิกและเสี่ยงต่อการหกล้มจนเกิดอุบัติเหตุได้
  • เลือกรองเท้าหน้ากว้าง ยืดขยายได้ดี เพื่อความสบายในการสวมใส่ เพราะแม่ท้องมักประสบปัญหาเท้าบวม อย่าลืมว่าต้องบอกลารองเท้า หัวแหลมไปก่อน เพราะอาจทำให้นิ้วเท้าเสียดสีจนเกิดบาดแผลได้
  • วัสดุที่ใช้ต้องระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น โดยเฉพาะที่เป็นหนังเนื้อนุ่ม ซึ่งสามารถยืดขยายให้เข้ากับเท้าของแม่ท้องได้
  •  พื้นรองเท้าด้านในที่รองรับเท้า โดยตรงต้องนุ่ม ใส่แล้วสบาย รองรับแรงกระแทกได้ ช่วยลดการปวดเข่า ปวดข้อเท้า การปวดหลังและอาการเส้นเลือดขอด
  •  พื้นด้านล่างทำจากยางคุณภาพดี ช่วยในการยืดเกาะพื้นผิว ป้องกันการลื่นล้ม
  • ควรเลือกรองเท้า ที่สวมแล้วเหลือพื้นที่ระหว่างรองเท้ากับปลายนิ้วโป้ง 1 ซม. เพื่อให้ขยับนิ้วได้สะดวกไม่เจ็บนิ้วเท้า
  • เพื่อลดภาระให้กับขาและเท้าที่ต้องแบกรับน้ำหนักมากอยู่แล้ว รองเท้าที่มีน้ำหนักเบา เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย
  • เวลาเลือกซื้อ ไม่ควรลองรองเท้าด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ควรลองสวมทั้ง 2 ข้าง เพราะเท้าข้างหนึ่งมักมีขนาดใหญ่กว่า

Concern
         ช่วงหน้าฝนนี้นอกจากการเลือกรองเท้าที่ทำจากวัสดุกันน้ำ เช่น หนังแก้ว พลาสติก คุณแม่อย่าลืมเช็กสภาพพื้นรองเท้าว่ายังเกาะพื้นได้ดีหรือไม่ ถ้าพื้นรองเท้าสึกมากๆ ก็ควรเปลี่ยนเสียเพราะจะเสี่ยงลื่นล้มได้ง่าย ๆ ค่ะ

Let’s Shopping
         นอกจากหลักการเลือกสรรรองเท้าที่เหมาะสมกับแม่ ๆ แล้ว เรามีรองเท้าแบบต่าง ๆ มานำเสนอด้วย ชอบแบบไหน ก็เลือกซื้อหามาใส่กัน จะว่าแล้วรองเท้าที่เหมาะกับคุณแม่ท้องมีมากมายในท้องตลาด เพียงแต่รู้จักเลือก โดยไม่ลืมคุณสมบัติที่จำเป็น เท่านี่ก็มีรองเท้าสวยๆ ไว้มิกซ์แอนด์แมตช์เข้ากันชุดคลุมท้องเก๋ ๆ ได้อีกเพียบค่ะ

Modern Mom’s Tips

  •  เลือกซื้อรองเท้าสักคู่ ช่วงบ่ายเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด เพราะช่วงนี้เท้าจะขยายกว่าปกติ
  •  การสวมถุงเท้าจะช่วยให้ใส่รองเท้าได้สบายมากขึ้น
  •  หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนาน ๆ โดยไม่มีการพักเท้า
  • หากรู้สึกปวดเท้ามาก ๆ ให้แช่เท้าในน้ำอุ่น เพื่อลดอาการปวดเมื่อย

สีผิวเข้มขึ้น มีเส้นคล้ำที่หน้าท้องขณะตั้งครรภ์





 สีผิวเข้มขึ้น มีเส้นคล้ำที่หน้าท้อง

          "ทำไมผิวหนังบางที่ ถึงมีสีเข้มขึ้นล่ะ ทั้งๆ ที่อยู่ในร่มผ้านี่น่า" ถึงแม้คุณแม่จะมีผิวขาวเป็นทุนเดิม หรือจะมีสีผิวน้ำผึ้งเป็นธรรมชาติ แต่เมื่อตั้งครรภ์ บริเวณผิวหนังที่มีสีเข้มกว่าปกติอยู่แล้ว เช่น ลานนม จุกนม รักแร้ หน้าท้อง เส้นตามลำคอ จะมีสีเข้มขึ้น
          คุณแม่บางคนเป็นกังวล พยายามขัดถู ใช้สครับทั้งหลายแหล่มาขัด และทาครีมบำรุงผิว ก็ต้องขอบอกว่า ทำช่วงนี้ก็ยังไม่ได้ผลค่ะ เพราะสีผิวที่คล้ำขึ้น เกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ไปกระตุ้นเม็ดสีใต้ผิวหนังให้มีการทำงานมากขึ้น สีผิวจึงคล้ำขึ้น และในแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจจะไม่เปลี่ยนมากมายนัก แต่ทำให้บางคนกลุ้มใจไม่มากเหมือนกัน


 วิธีป้องกัน          ต้องบอกว่าไม่มีวิธีป้องกันจริงๆ ค่ะ ในเรื่องนี้เพราะเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เหมือนปัจจัยภายนอก แต่สิ่งที่พอจะช่วยได้บ้างคือ การบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนเหมาะกับผิว
          เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น และการดื่มน้ำสะอาด กินผักผลไม้เพื่อให้ผิวมีสุขภาพดี รับรองว่าได้ผลระยะในช่วงหลังคลอดอีกด้วย และเจ้ารอยดำทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ จางหายไปหลังจากคลอดลูกแล้วเช่นกันค่ะ
         6 อาการที่กล่าวมาข้างต้น คุณแม่บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย บางคนมีเพียงไม่กี่อาการ บางคนเป็นครบทุกอาการที่กล่าวมา ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจให้แข็งแรง ไม่ต้องเครียดกับอาการที่ถือว่า "เป็นปกติ" สำหรับคุณแม่ท้องกันเลยนะคะ

ท้องลายจาการตั้งครรภ์

      แกะรอย ท้องลาย... รู้ 4 สาเหตุก่อนป้องกัน 
         1. ผิวขยายตัวไม่ทันกับการขยายตัวของมดลูก โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแห้งจะเป็นง่าย
         2. น้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป จะทำให้ผิวแตกลายเพิ่มขึ้น 
         3. การเกาเมื่อรู้สึกคันผิวที่กำลังแตกลาย เพิ่มการเกิดท้องลายมากขึ้น 
         4. การนอนตะแคง ทำให้ท้องเอียงมาก ผิวด้านตรงข้ามถูกดึงรั้งให้แตกลายเพิ่มขึ้น 

     โบกมือลา...ท้องลายต้อนรับ...ผิวเนียนนุ่ม
      1. ดูแลน้ำหนักตัวให้ขึ้นตามเกณฑ์ ที่เหมาะสม เดือนละประมาณ 2 กก. อย่าให้ขึ้นเร็วเกินไป ผิวจะได้ยืดตัวช้าๆ ต่อเนื่องกัน และ ปรับสภาพผิวไม่ให้ แตกลายได้ 
      2. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน เพราะจะทำให้ผิวแห้งมาก คันมาก เพิ่มให้ผิว แตกลายได้มากขึ้นด้วย 
      3. เมื่อคันผิวไม่ควรเกา แต่ควรใช้มือลูบท้องเบาๆ หมั่นตัดเล็บสั้นๆ เผื่อเผลอ ไปเกาขณะนอนหลับ
      4. ลดอาการคัน ด้วยการทาน้ำมันมะกอกครีม โลชั่น ที่มีมอยส์เจอร์ไรเซอร์ เช่น ออยล์ ลาโนลิน ซีลามายด์ มีโปรตีน และมีสารที่มี ฤทธิ์อุ้มน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว เช่น กรีเซอรีน กรีเซอรอลซอลบีทอล
      5. สร้างความชุ่มชื้นให้กับผิวด้วยการดื่มน้ำเปล่าให้มากพอ      6. กินผักและผลไม้สดๆ ให้มาก เพื่อบำรุงผิวให้เนียนนุ่ม ชุ่มชื้น 
      7. หมั่นออกกำลังกายเบาๆ ให้ผิวแข็งแรง เช่น เดิน ว่ายน้ำ เพื่อลดโอกาสเกิดรอยแตกลาย 
      8. หาหมอนมารองท้องขณะนอนตะแคง เพื่อช่วยให้รู้สึกสบาย และลดการดึงรั้งของผิวด้านตรงข้ามด้วย 
      9. สวมชุดชั้นในช่วยพยุงน้ำหนักไม่ให้ถ่วงน้ำหนักผิวบริเวณหน้าท้องมากไปจนเกิดหน้าท้องลาย
      10. ถ้าคิดจะใช้ยาทา ใช้เลเซอร์รักษาท้องลาย ปรึกษาคุณหมอเพื่อความปลอดภัยต่อลูกในท้องด้วยนะคะ



ที่มา ... Mother & Care 

การอัลตร้าซาวด์จำเป็นแค่ไหน

   
 วิทยาการด้านการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความคาดหวังจากการดูแลรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ก็เพิ่มสูง ขึ้น ตลอดเวลา ทุกวันนี้จึงมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย และสามารถสื่อสารกับทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นั่นก็คือการทำ อัลตร้าซาวนด์

    ไม่มีแม่ท้องไม่รู้จัก         หากพูดเช่นนี้คงไม่ผิดค่ะ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนล้วนรู้จักและเคยผ่านการทำอัลตร้าซาวนด์มาแล้ว ทั้งนั้น เพราะเครื่องอัล ตร้าซาวนด์คือเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ที่คุณหมอสูติฯ ใช้ในการตรวจวินิจฉัยและติดตามภาวะของทารกในครรภ์ จนทำให้ว่าที่คุณ แม่สับสนว่า จริงๆ แล้วควรต้องทำการตรวจอัลตร้าซาวนด์เพื่อดูอะไรบ้างของทารกในครรภ์ และจะต้องตรวจสักกี่ครั้งจึงจะเหมาะสม
จำนวนครั้งที่ควรทำ
          บ้างบอกว่า 1-2 ครั้ง หรือมีแม้กระทั่งว่าที่คุณแม่บางคนอัลตร้าซาวนด์เป็นจำทุกเดือนที่ไปพบคุณ หมอ ซึ่งจริงๆ แล้ว ตอนนี้ยัง ไม่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าการตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ระหว่างตั้งครรภ์ควรจะทำกันกี่ ครั้งแต่ ถ้ายึดตามคำแนะนำของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์อเมริกัน ก็แนะนำให้ทำเพียงครั้งเดียวตอนอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์
        ตามความเห็นของหมอในฐานะสูตินรีแพทย์ก็เห็นด้วยว่า ว่าที่คุณแม่ควรได้รับการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ดังกล่าว เพื่อวินิจฉัยตำแหน่งของการตั้งครรภ์ ขนาดของทารกในครรภ์ ความผิดปกติของรูปร่าง การทำงานของอวัยวะ ต่างๆ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงความผิดปกติโดยกำเนิดที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ ที่สะท้อนถึงสุขภาพของทารกครับ
         สำหรับว่าที่คุณแม่ที่เป็นกลุ่มคนไข้พิเศษ เช่น ผู้ที่มีบุตรยากและตั้งครรภ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือเป็นกลุ่มที่เป็นครรภ์เสี่ยงสูง เช่น ตั้งครรภ์แฝด มี ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ควรที่จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามอายุครรภ์ต่อไปนี้
      + อายุครรภ์ 7-9 สัปดาห์         การตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ทางช่องคลอด จะช่วยให้รู้ว่าการตั้งครรภ์อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ มีตัวเด็กหรือไม่ เป็น การตั้งครรภ์เดี่ยวหรือแฝด มีเลือดออกอยู่ใต้รกหรือไม่ ไข่ตกจากรังไข่ข้างใด รังไข่มีซีสต์หรือไม่ ตัวมดลูกมีเนื้องอกร่วมกับการตั้งครรภ์ หรือเปล่า        นอกจากนี้ยังสามารถทำนายอายุครรภ์ได้แม่นยำ โดยมีความผิดพลาดประมาณ 3 วันเท่านั้นซึ่งการตรวจในช่วงเวลาดังกล่าวจะ เป็นประโยชน์ในอนาคต เพราะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการตรวจในครั้งต่อๆ ไปอีกด้วย

      + อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์
          การตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ทางช่องคลอด จะวัดขนาดความยาวของทารกที่เรียกว่า Crown Rump Length วัดความหนา ของท้ายทอยทารก ตรวจหากระดูกจมูก ซึ่งช่วยในการทำนายโอกาสที่ทารกจะมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ที่เรียกว่าดาวน์ซิ นโดรมได้กว่าร้อยละ 70 เมื่อ รวมกับการตรวจวัดระดับฮอร์โมนของแม่แล้ว จะสามารถคำนวณออกมาเป็นโอกาสเสี่ยงที่ทารกจะเป็น ดาวน์ซินโดรมได้แม่นยำมาก ขึ้นถึงประมาณร้อยละ 78         นอกจากนี้ยังสามารถบอกตำแหน่งที่รกเกาะได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยในการเฝ้าติดตามตำแหน่งของรกในอนาคตต่อไป

      + อายุครรภ์ 18-24 สัปดาห์           เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะสามารถตรวจทารกในครรภ์ทั้งตัว ได้แก่ ส่วนศีรษะ แขน ขา ลำตัว และอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ กระบัง ลม ปอด ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร เป็นต้น ในกรณีที่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย ก็สามารถที่จะปรึกษาสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การดูแลรักษาต่อไป และช่วงเวลานี้ยังเหมาะสำหรับการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อนำไปตรวจ วิเคราะห์โครโมโซมของทารกในครรภ์

      + อายุครรภ์ 32-34 สัปดาห์
         เป็นช่วงเวลาที่จะทำการตรวจทารกในครรภ์ เพื่อที่จะบอกถึงความสมบูรณ์ของทารก ความสมบูรณ์ของใบหน้า อวัยวะต่างๆ และ ขนาดของทารก ซึ่งสามารถบอกได้ว่า ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ โตเกินไป หรือเติบโตช้า เป็นต้น เพื่อทำนายน้ำหนัก แรกคลอด
          นอกจากนั้น หลังจากช่วงเวลานี้ทารกในครรภ์มักจะไม่เปลี่ยนท่าอีกแล้ว เช่น หากอยู่เป็นท่าก้นหรือท่าศีรษะก็จะอยู่ในท่านั้นจน กระทั่งครบกำหนดคลอด ว่าที่คุณแม่ก็จะรู้ได้ว่า สามารถคลอดธรรมชาติได้หรือไม่ เพราะมีเพียงส่วนน้อยที่ทารกจะเปลี่ยนท่าไปจากเดิม
        คุณแม่ผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า การตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ในช่วงเวลาต่างๆ มีหลักการเหตุผล และประโยชน์จากการ ตรวจแตกต่างกันไป และหากมีภาวะเสี่ยงอื่น เช่น มีเลือดออกในระยะ 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ สงสัยว่ามีความผิดปกติของหัวใจ หรือสงสัยว่าทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เป็นต้น ก็จำเป็นที่จะต้องตรวจอัลตร้าซาวนด์เพิ่ม เพื่อประเมินสถานะภาพของทารกในครรภ์เพิ่ม เติมค่ะ       การอัลตร้าซาวนด์นอกจากจะมีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของแม่และลูกในครรภ์แล้ว ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือว่าที่คุณแม่ และว่าที่คุณพ่อยังสามารถเก็บภาพแห่ง ความประทับใจ เพื่อนำไปบอกเล่ากับญาติพี่น้องหรือแม้กระทั่งกับเจ้าตัวเล็กที่กำลังจะเติบ โตมา ในอนาคตได้อีกด้วยนะคะ

ที่มา ... http://goo.gl/wA5N6 

คุณแม่กลัวอ้วน มีผลต่อหนูนะ

  


 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเผยว่า การอดอาหารในระหว่างการตั้งครรภ์ ช่วงแรก ๆ จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ อาจทำให้ทารกมีสติปัญญาต่ำลง และเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมด้วย ซึ่งอันตรายนี้จะเกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารแคลอรี่ต่ำ ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และพบความเสี่ยงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในแม่วัยรุ่นและแม่วัยกลางคน งานวิจัยนี้ปรากฏในวารสารวิชาการฉบับล่าสุดของ National Academy of Sciences          นักวิจัยได้เปรียบเทียบแม่ลิงบาบูนสองกลุ่ม ที่อยู่ในศูนย์วิจัยลิงของมูลนิธิตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อการวิจัยชีวแพทย์ (Southwest Foundation for Biomedical Research) โดยกลุ่มหนึ่งได้รับอนุญาตให้กินมากเท่าที่พวกมันต้องการ ในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ ขณะที่อีกกลุ่มถูกจำกัดอาหารให้เหลือเพียงน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเป็นอาหารที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ช่วงแรก ๆ กิน โดยเฉพาะผู้ซึ่งมีอาการแพ้ท้อง
          ในกลุ่มแม่ลิงบาบูนที่ถูกจำกัดอาหารในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ นักวิจัยพบว่า ทารกในครรภ์จะได้รับอันตรายจากการเชื่อมต่อของเซลล์และการแบ่งเซลล์ และมีการเจริญเติบโตของส่วนต่าง ๆ ลดลงด้วย และยังพบอีกว่า การได้รับสารอาหารที่จำกัด จะส่งผลให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท และยีนนับร้อย ๆ ที่ควบคุมเซลล์สำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาด้านต่าง ๆ

          ดร.ปีเตอร์ นาธานนีลซ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด มหาวิทยาลัยเท็กซัส กล่าวว่า "การค้นพบในงานวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกเป็นระยะวิกฤตที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองกำลังสร้างเซลล์ประสาทและเซลล์ค้ำจุน (เซลล์ที่ช่วยเหลือการทำงานของเซลล์ประสาท)"         ถึงแม้ว่าการวิจัยครั้งนี้จะวิจัยในสัตว์ แต่ ดร.ปีเตอร์ก็เชื่อว่าผลวิจัยอ้างอิงกับมนุษย์ได้ โดยมีการวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่า การขาดสารอาหารของหญิงมีครรภ์ เช่นเดียวกับที่ได้ทดลองกับลิงบาบูน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของทารกอย่างมีนัยสำคัญ
         ดร.โธมัส แม็คโดนัลด์ นักวิจัยอาวุโสระบุว่า "การศึกษานี้แสดงให้เห็นเพิ่มเติมถึงความสำคัญของสุขภาพที่ดี และโภชนาการที่ดีของหญิงมีครรภ์" เขากล่าวอีกว่า "งานวิจัยนี้สนับสนุนความคิดที่ว่า การขาดสารอาหารระหว่างตั้งครรภ์จะยับยั้งการพัฒนาอวัยวะของทารก ในกรณีของสมอง พบว่าจะส่งผลกระทบระยะยาวกับเซลล์สมอง ทำให้ทารกมีสติปัญญาต่ำลง และนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรม" ดร.โธมัสสรุปว่า "ผลวิจัยนี้ชี้ชัดในวงกว้างว่า แม่จะสามารถปกป้องทารกในครรภ์ของพวกเธอด้วยโภชนาการที่ดี"

         สำหรับคุณแม่ การใส่ใจเรื่องสุขภาพของคุณเองมีความสำคัญต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ แม้ว่าคุณจำเป็นต้องกินอาหารให้เพียงพอสำหรับสองคน แต่ยังไงก็ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง เนื่องจากมีผลการศึกษาชี้ว่า การกินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป ส่งผลกระทบทางลบ ทำให้เสี่ยงต่อโรคที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์ การกินอาหารเพื่อสุขภาพในปริมาณที่พอเหมาะ จะช่วยให้คุณได้สารอาหารที่เพียงพอ และน้ำหนักไม่เพิ่มมากจนเกินไปค่ะ
ที่มา ... Mother & Care

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อาการแพ้ท้องและการแก้ไข


อาการแพ้ท้อง เป็น อาการที่พบบ่อยในผู้ที่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ (ภายใน 3 เดือนแรก) คือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นมากหรือน้อยในแต่ละคนแตกต่างกันไป ไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่นอนเชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ มักไม่มีอันตรายอะไร ยกเว้นคนที่อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้ทั้งวันหลายๆวันจนเกิดภาวะ ขาดอาหาร น้ำ และเกลือแร่
ทำอย่างไรไม่ให้มีอาการแพ้ท้อง
เนื่อง จากเราไม่ทราบสาเหตุของการแพ้ท้องจึงยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่จากการสังเกตเราจะพบว่าเมื่อตั้งครรภ์จะมีอาการหิวบ่อย อ่อนเพลียง่าย ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีความไวต่อกลิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะกลิ่นอาหารที่อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ (การชอบหรือไม่ชอบชนิดอาหารขณะตั้งครรภ์ อาจเปลี่ยนไปจากก่อนตั้งครรภ์)

ถ้า หิวแล้วบางคนจะกระวนกระวายมาก และถ้าไม่ได้รับประทานอาหารทันทีขณะหิวจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรับประทาน อะไรไม่ได้และหิวเป็นวงจรให้คลื่นไส้อาเจียนเรื่อย ๆ ได้ อาการแพ้ท้องมักมีมากขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนเพลียด้วย

ข้อแนะนำ คือ

1. พักผ่อนให้เพียงพอทั้งทางร่างกายและจิตใจ
2. เมื่อหิวควรหาอาหารรับประทานทันที ไม่ควรรอเวลาหรือรอให้หิวจัด จะพบว่าจะเริ่มหิวทุก 2-3 ช.ม. ไม่ว่าจะรับประทานอาหารมากหรือน้อยก่อนหน้านี้ จึงควรนำอาหารที่ชอบ พกพาสะดวกติดตัวไว้ด้วยเสมอเพื่อหยิบรับประทานได้ทันทีที่หิว ไม่ควรรับประทานครั้งละมาก ๆ ควรรับประทานแค่หายหิวในแต่ละครั้ง ดื่มน้ำทีละน้อย บ่อย ๆ ป้องกันร่างกายขาดน้ำ
3. ในระยะนี้เลือกรับประทานอาหารที่ชอบก่อน ยังไม่ต้องคำนึงว่ามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด
4. การรับประทานวิตามินรวมจะช่วยให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น โดยเฉพาะวิตามินบี 6 ยังไม่ควรรับประทานยาบำรุงเลือดที่เข้าแร่เหล็ก เพราะจะทำให้คลื่นไส้ได้ เลือกรับประทานยี่ห้อที่มีกลิ่นรสที่เราชอบ
5. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด มีเครื่องเทศมาก
6. ควรรับประทานอาหารเบาๆ (เช่น แครกเกอร์) และ/หรือ เครื่องดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอน จะทำให้หลับสบาย ควรเตรียมไว้ที่ห้องนอน เผื่อลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกแล้วรู้สึกหิว จะได้ดื่ม-รับประทานได้ ตอนเช้าควรดื่มเครื่องดื่มที่เตรียมไว้ หรือรับประทานแครกเกอร์เมื่อตื่นนอนขึ้นทันทีก่อนลุกจากเตียงไปทำกิจวัตร ประจำวัน

การรับประทานยาแก้แพ้ท้อง
ยาที่ป้องกันอาเจียนมีหลายชนิด แต่ที่นับว่าปลอดภัยมีอยู่ 2-3 ชนิด ท่านควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแล

ถ้าแพ้ท้องมากจนเสียความสมดุลย์น้ำและเกลือแร่ ท่านจะมีอาการอ่อนเพลียมาก ควรนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือแร่ทดแทน

เมื่อไรควรรีบไปโรงพยาบาลจากอาการแพ้ท้อง
1. เมื่อปัสสาวะออกน้อย (< 500 ซซ./วันหรือ 20 ซซ./ชม.) และมีสีเหลืองเข้ม
2. ดื่มน้ำไม่ได้เลยทั้งวัน
3. มีอาการหน้ามืดเมื่อลุกขึ้นยืน
4. อาการใจสั่น เต้นแรงมาก
5. อาเจียนมีเลือดปนออกมา แสดงว่ามีอาการแพ้ท้องมากเกิน เข้าเขตอันตรายแล้ว
ขอคุณข้อมูลจาก                                                                                          นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช