จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การคลอดก่อนกำหนด



ปกติ สตรีตั้งครรภ์จะคลอดที่อายุครรภ์ประมาณ  38-40 สัปดาห์  การคลอดก่อนกำหนด  หมายถึง มีการคลอดทารกออกมาก่อนอายุครรภ์  37  สัปดาห์เต็ม  โดยนับเริ่มต้นจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนตั้งครรภ์ เป็นวันที่ 1 (สำหรับคนที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28 วัน)

ทารก ที่คลอดก่อนกำหนดจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ  น้ำหนักทารกปกติที่คลอดอายุครรภ์ 38-40 สัปดาห์จะอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 3,000 กรัม  ถ้าคลอดก่อน 37 สัปดาห์มักมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม  เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อย”  ถ้าคลอดก่อน 30-32  สัปดาห์  น้ำหนักเฉลี่ยน้อยกว่า 1,500 กรัม  เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อยมาก”

ความสำคัญ
การคลอด ก่อนกำหนดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ  เพราะเป็นสาเหตุของการตาย  และความพิการระยะยาวของทารกที่พบบ่อย  ทารกจะมีน้ำหนักน้อย  อวัยวะต่าง ๆ ยังไม่สามารถทำงานเองได้อย่างสมบูรณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการหายใจ  ทำให้ต้องรักษาเยียวยามาก  มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว  และของระบบสาธารณสุขของประเทศ  น้ำหนักยิ่งน้อย ยิ่งต้องดูแลมาก

การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
คือ การบีบตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอ  จนทำให้เกิดการบางตัวและการเปิดของปากมดลูกก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์  ถ้ามีการบีบตัวดังกล่าว  แต่ไม่ทำให้ปากมดลูกบางตัว  เราเรียกว่า  การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคุกคาม

การกำหนดอายุครรภ์
โดยทั่วไป กำหนดอายุครรภ์โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนการตั้ง ครรภ์   แต่ถ้าประจำเดือนไม่แน่นอน  หรือ จำประจำเดือนไม่ได้  จะทราบอายุครรภ์ได้โดยการตรวจคลื่นความถี่สูงในไตรมาสแรกจะแม่นยำที่สุด  ถ้าเป็นไตรมาสที่สอง  หรือ สามก็พอจะประมาณได้   ถ้าคลอดมาแล้วน้ำหนักทารก  และลักษณะของทารกก็จะบอกอายุครรภ์ได้

สาเหตุการคลอดก่อนกำหนด

1. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด

2. ครรภ์แฝด  ยิ่งแฝดมาก ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมาก

3. รกเกาะต่ำ

4. มีอักเสบ หรือ ผ่าตัดในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบขณะตั้งครรภ์, ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน

5. ปริมาณน้ำคร่ำมาก หรือน้อยเกินไป

6. มดลูกรูปร่างผิดปกติแต่กำเนิด  เนื้องอกมดลูก

7. รกลอกตัวก่อนกำหนดคลอด

8. มารดาสูบบุหรี่  เสพย์สารเสพติด  ภาวะทุโภชนาการ

9. มารดาอายุมาก  หรือน้อยเกิน (น้อยกว่า 18 ปี หรือ มากกว่า 35 ปี)

10. ทารกเจริญผิดปกติ

กลุ่มเสี่ยง
คุณ แม่กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด คือ กลุ่มที่อายุมาก หรือ น้อยเกินไป  สูบบุหรี่  ติดยาเสพติดอื่น ๆ น้ำหนักตัวมาก หรือน้อยเกินไปขณะตั้งครรภ์  เครียด  ทำงานหนัก  คุณแม่มีประวัติตั้งครรภ์และการคลอดที่ไม่ดี  เช่น  การแท้ง  การคลอดก่อนกำหนดในครั้งก่อน  ตั้งครรภ์แฝด  ภาวะติดเชื้อทางระบบปัสสาวะเฉียบพลัน  หรือ เรื้อรัง  มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์  ความดันโลหิตสูง  ปริมาณน้ำคร่ำมาก หรือ น้อยกว่าปกติ  และการติดเชื้อในช่องคลอด และปากมดลูก

การป้องกันการคลอดก่อนกำหนดสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
1. ฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์

2. ไปตามนัดและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

3. พักผ่อนให้มาก

4. ออกกำลังกายไม่หักโหม  ไม่ยกของหนัก  ไม่เดินทางไกล

5. จิตใจผ่อนคลาย

6. เรียนรู้ความรู้สึกของมดลูกบีบตัวแต่เนิ่น ๆ เพื่อการสังเกตตัวเอง

7. งดการกระตุ้นที่หัวนม

8. ลด หรือ งดการมีเพศสัมพันธ์

การปฏิบัติตัวเมื่อมีการปวดท้องคลอดก่อนกำหนด
1. ไปพบแพทย์ทันทีก่อนวันนัด  เมื่อมีอาการ

2. แพทย์จะให้นอนโรงพยาบาล เมื่อตรวจแล้วพบว่าเป็นจริง และจะมีการติดตามการบีบตัวของมดลูกและการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง

3. นอนบนเตียงตลอดเวลา  เพื่อความผ่อนคลายของร่างกาย

4. แพทย์จะตรวจเลือด  ปัสสาวะ  และให้น้ำเกลือที่มียาฉีดให้มดลูกลดการบีบตัวในระยะแรก  และให้ยารับประทานเมื่ออาการสงบลง

5. มีการอัลตราซาวนด์ และการตรวจพิเศษเพื่อดูสุขภาพเด็ก

  ขอบคุณข้อมูลจากพล.ต.รศ.นพ.ธีรศักดิ์  ธำรงธีระกุล 
และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก และผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น