จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เสริมหน้าอก ให้นมลูกได้หรือไม่



เรื่องความสวยความงานเป็นเรื่องยอมกันไม่ได้สำหรับผู้หญิงเราค่ะ หลายคนจึงตบเท้าเข้าพึ่งมีดหมอ ถ้าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องของหน้าอกหน้าใจนี่สิต้องคิดหนักหน่อย เพราะหลายคนสงสัยว่าถ้าไปทำอึ๋มมาแล้ว จะให้นมลูกเองได้ไหมน้า... ถ้าอย่างนั้นเราไปหาคำตอบด้วยกันดีกว่านะคะ
    ความกังวลต่อการผลิตน้ำนม        การผ่าตัดเต้านมที่จะพูดถึงนี้ เป็นการทำศัลยกรรมตกแต่งเพื่อการลดหรือเพิ่มขนาดของเต้านม ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ เรื่องของการตัดเอาท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม และเส้นประสาทออกไปหรือไม่ เพราะอาจทำให้กลไกน้ำนมพุ่ง "Let Down Reflex" ขาดหายไป การส่งกระแสประสาทให้เกิดการสร้างน้ำนมก็จะลดลงหรือหายไปได้ ถ้ายังคงอยู่ดีก็ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับการให้นมค่ะ และยังสามารถใช้หลักการเดิม คือ 3 ดูด ดูดโดยเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี ยิ่งดูดมากน้ำนมยิ่งมากได้เหมือนเดิมค่ะ
        การเพิ่มขนาดเต้านมอาจทำโดยการสอดใส่ถุงน้ำเกลือ หรือถุงซิลิโคนเข้าไปใต้เต้านม สมัยนี้มักสอดเข้าบริเวณรักแร้หรือบริเวณอื่นที่ไม่มีการตัด ตกแต่งบริเวณหัวนม กลุ่มนี้มักไม่มีปัญหาจากการตัดท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ต่างจากกลุ่มที่ตัดหรือลดขนาดของเต้านม ที่มักมีการตกแต่งบริเวณหัวนม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีความแตกต่างกันตามเทคนิคที่แพทย์ แต่ละท่านทำและการให้ความสำคัญกับการให้นมลูก โดยเฉพาะคุณ ๆ ที่ตัดสินใจทำศัลยกรรมประเภทนี้ในวัยที่ยังอาจมีลูกได้ ถ้ายังไม่ทราบว่าผ่าตัดแบบไหนก็คงต้องถามแพทย์ที่ทำให้ค่ะ  คุณแม่ที่ผ่าตัดหน้าอกมาอาจลังเลว่า ให้นมลูกแล้วเต้านมจะเสียทรงจากที่ทำมา อันนี้คงต้องหยั่งใจตัวเองให้ดีว่าจะเลือกอะไร มีการผ่าตัดเสริมเต้านมหลายแบบ ที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบจากการให้ลูกกินนมจากเต้าเลย อาจกระทบบ้างจาการมีน้ำนมเพิ่มขึ้น ทำให้คัดตึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบ้างเล็กน้อยแบบที่ยอมรับได้

    จะเสริมหรือตัด ก็ไม่มีปัญหา...        โดยส่วนใหญ่จะพบว่า แม่หลังจากผ่าตัดเสริมเต้านม สามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้เท่ากับคนที่ไม่ได้ผ่าตัด มีบางรายที่มีอาการชาหรือหมดความรู้สึกที่บริเวณลานนม หรือหัวนมซึ่งอาจใช้เวลาในการฟื้นฟูกลับเป็นปกติได้ในเวลา 6 เดือนหลังผ่าตัด หรือบางรายอาจเป็นถึง 2 ปีแล้วแต่กรณี ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดอาจรู้สึกไม่มั่นใจว่า จะมีน้ำนมพอให้ลูกกินหรือไม่ ขอแนะนำให้ทำในสิ่งต่อไปนี้
  •  พยายามอย่าใช้ความรู้สึกเป็นตัวตัดสินดูที่สุขภาพลูกเป็นหลัก
  •  หมั่นให้ลูกกินนมอย่างสม่ำเสมอ กินอย่างถูกวิธี
  • สวมเสื้อยกทรงหรือมีสิ่งประคับประคองเต้านมไว้เสมอ โดยไม่ให้หลวมหรือคับแน่นจนเกินไป
  •  อย่าให้มีการดึงรั้งหัวนมหรือเต้านม เช่น การดึงเอาหัวนมออกจากปากลูก ฯลฯ
  • ดูแลตนเองโดยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อน และมีจิตใจที่แจ่มใส
  • ถ้าจำเป็นต้องกระตุ้นน้ำนมให้ลูกดูดกระตุ้นที่เต้าก่อนเสมอ
  • สามารถบีบเก็บน้ำนมด้วยมือหรือปั้ม เพื่อใช้เสริมให้ลูกในกรณีที่จำเป็น โดยให้นมลูกผ่านทางสายยางขนาดเล็ก หรือใช้หยดที่มุมปากตอนดูดจากเต้าก็ได้
  • ใช้การเสริมด้วยนมชงเป็นทางเลือกสุดท้าย ถ้าแสดงอาการน้ำนมที่ได้ไม่พอ
รู้ถึงการให้นมแม่หลังจากการทำศัลยกรรมเต้านมกันแล้วนะคะว่า เป็นอย่างไร คงจะช่วยคุณแม่ประกอบการตัดสินใจได้นะคะ ฉะนั้นก่อนที่จะตัดสินใจทำศัลยกรรมครั้งใด คุณแม่ควรจะพิจารณาถึงผลดีผลเสียอย่างถี่ถ้วนก่อนเป็นดีที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้วของปลอมไหนเลยจะสู้ของธรรมชาติให้มาได้ล่ะคะ

ที่มา ... modernmom

รองเท้าของคุณแม่ตั้งครรภ์





น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ประกอบกับท้องที่โตมากขึ้น ทำให้ร่างกายของแม่ท้องไม่สมดุลเหมือนเดิม เท้าต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้ง จะเดิน แต่ละทีก็ต้องระมัดระวังไปหมด แม้จะไม่คล่องแคล่วเหมือนก่อน คุณแม่ก็ลดภาระให้กับเท้าได้ด้วยตัวช่วยอย่าง "รองเท้า" ค่ะ
How to Choose
  • รองเท้าที่เหมาะที่สุดสำหรับแม่ท้อง คงหนีไม่พ้นประเภทที่ไม่มีส้นหรือส้นเตี้ย หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง ที่เพิ่มอาการปวดหลัง แถมยังอาจทำให้เท้าพลิกและเสี่ยงต่อการหกล้มจนเกิดอุบัติเหตุได้
  • เลือกรองเท้าหน้ากว้าง ยืดขยายได้ดี เพื่อความสบายในการสวมใส่ เพราะแม่ท้องมักประสบปัญหาเท้าบวม อย่าลืมว่าต้องบอกลารองเท้า หัวแหลมไปก่อน เพราะอาจทำให้นิ้วเท้าเสียดสีจนเกิดบาดแผลได้
  • วัสดุที่ใช้ต้องระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น โดยเฉพาะที่เป็นหนังเนื้อนุ่ม ซึ่งสามารถยืดขยายให้เข้ากับเท้าของแม่ท้องได้
  •  พื้นรองเท้าด้านในที่รองรับเท้า โดยตรงต้องนุ่ม ใส่แล้วสบาย รองรับแรงกระแทกได้ ช่วยลดการปวดเข่า ปวดข้อเท้า การปวดหลังและอาการเส้นเลือดขอด
  •  พื้นด้านล่างทำจากยางคุณภาพดี ช่วยในการยืดเกาะพื้นผิว ป้องกันการลื่นล้ม
  • ควรเลือกรองเท้า ที่สวมแล้วเหลือพื้นที่ระหว่างรองเท้ากับปลายนิ้วโป้ง 1 ซม. เพื่อให้ขยับนิ้วได้สะดวกไม่เจ็บนิ้วเท้า
  • เพื่อลดภาระให้กับขาและเท้าที่ต้องแบกรับน้ำหนักมากอยู่แล้ว รองเท้าที่มีน้ำหนักเบา เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย
  • เวลาเลือกซื้อ ไม่ควรลองรองเท้าด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ควรลองสวมทั้ง 2 ข้าง เพราะเท้าข้างหนึ่งมักมีขนาดใหญ่กว่า

Concern
         ช่วงหน้าฝนนี้นอกจากการเลือกรองเท้าที่ทำจากวัสดุกันน้ำ เช่น หนังแก้ว พลาสติก คุณแม่อย่าลืมเช็กสภาพพื้นรองเท้าว่ายังเกาะพื้นได้ดีหรือไม่ ถ้าพื้นรองเท้าสึกมากๆ ก็ควรเปลี่ยนเสียเพราะจะเสี่ยงลื่นล้มได้ง่าย ๆ ค่ะ

Let’s Shopping
         นอกจากหลักการเลือกสรรรองเท้าที่เหมาะสมกับแม่ ๆ แล้ว เรามีรองเท้าแบบต่าง ๆ มานำเสนอด้วย ชอบแบบไหน ก็เลือกซื้อหามาใส่กัน จะว่าแล้วรองเท้าที่เหมาะกับคุณแม่ท้องมีมากมายในท้องตลาด เพียงแต่รู้จักเลือก โดยไม่ลืมคุณสมบัติที่จำเป็น เท่านี่ก็มีรองเท้าสวยๆ ไว้มิกซ์แอนด์แมตช์เข้ากันชุดคลุมท้องเก๋ ๆ ได้อีกเพียบค่ะ

Modern Mom’s Tips

  •  เลือกซื้อรองเท้าสักคู่ ช่วงบ่ายเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด เพราะช่วงนี้เท้าจะขยายกว่าปกติ
  •  การสวมถุงเท้าจะช่วยให้ใส่รองเท้าได้สบายมากขึ้น
  •  หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนาน ๆ โดยไม่มีการพักเท้า
  • หากรู้สึกปวดเท้ามาก ๆ ให้แช่เท้าในน้ำอุ่น เพื่อลดอาการปวดเมื่อย

สีผิวเข้มขึ้น มีเส้นคล้ำที่หน้าท้องขณะตั้งครรภ์





 สีผิวเข้มขึ้น มีเส้นคล้ำที่หน้าท้อง

          "ทำไมผิวหนังบางที่ ถึงมีสีเข้มขึ้นล่ะ ทั้งๆ ที่อยู่ในร่มผ้านี่น่า" ถึงแม้คุณแม่จะมีผิวขาวเป็นทุนเดิม หรือจะมีสีผิวน้ำผึ้งเป็นธรรมชาติ แต่เมื่อตั้งครรภ์ บริเวณผิวหนังที่มีสีเข้มกว่าปกติอยู่แล้ว เช่น ลานนม จุกนม รักแร้ หน้าท้อง เส้นตามลำคอ จะมีสีเข้มขึ้น
          คุณแม่บางคนเป็นกังวล พยายามขัดถู ใช้สครับทั้งหลายแหล่มาขัด และทาครีมบำรุงผิว ก็ต้องขอบอกว่า ทำช่วงนี้ก็ยังไม่ได้ผลค่ะ เพราะสีผิวที่คล้ำขึ้น เกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ไปกระตุ้นเม็ดสีใต้ผิวหนังให้มีการทำงานมากขึ้น สีผิวจึงคล้ำขึ้น และในแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจจะไม่เปลี่ยนมากมายนัก แต่ทำให้บางคนกลุ้มใจไม่มากเหมือนกัน


 วิธีป้องกัน          ต้องบอกว่าไม่มีวิธีป้องกันจริงๆ ค่ะ ในเรื่องนี้เพราะเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เหมือนปัจจัยภายนอก แต่สิ่งที่พอจะช่วยได้บ้างคือ การบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนเหมาะกับผิว
          เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น และการดื่มน้ำสะอาด กินผักผลไม้เพื่อให้ผิวมีสุขภาพดี รับรองว่าได้ผลระยะในช่วงหลังคลอดอีกด้วย และเจ้ารอยดำทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ จางหายไปหลังจากคลอดลูกแล้วเช่นกันค่ะ
         6 อาการที่กล่าวมาข้างต้น คุณแม่บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย บางคนมีเพียงไม่กี่อาการ บางคนเป็นครบทุกอาการที่กล่าวมา ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจให้แข็งแรง ไม่ต้องเครียดกับอาการที่ถือว่า "เป็นปกติ" สำหรับคุณแม่ท้องกันเลยนะคะ

ท้องลายจาการตั้งครรภ์

      แกะรอย ท้องลาย... รู้ 4 สาเหตุก่อนป้องกัน 
         1. ผิวขยายตัวไม่ทันกับการขยายตัวของมดลูก โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแห้งจะเป็นง่าย
         2. น้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป จะทำให้ผิวแตกลายเพิ่มขึ้น 
         3. การเกาเมื่อรู้สึกคันผิวที่กำลังแตกลาย เพิ่มการเกิดท้องลายมากขึ้น 
         4. การนอนตะแคง ทำให้ท้องเอียงมาก ผิวด้านตรงข้ามถูกดึงรั้งให้แตกลายเพิ่มขึ้น 

     โบกมือลา...ท้องลายต้อนรับ...ผิวเนียนนุ่ม
      1. ดูแลน้ำหนักตัวให้ขึ้นตามเกณฑ์ ที่เหมาะสม เดือนละประมาณ 2 กก. อย่าให้ขึ้นเร็วเกินไป ผิวจะได้ยืดตัวช้าๆ ต่อเนื่องกัน และ ปรับสภาพผิวไม่ให้ แตกลายได้ 
      2. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน เพราะจะทำให้ผิวแห้งมาก คันมาก เพิ่มให้ผิว แตกลายได้มากขึ้นด้วย 
      3. เมื่อคันผิวไม่ควรเกา แต่ควรใช้มือลูบท้องเบาๆ หมั่นตัดเล็บสั้นๆ เผื่อเผลอ ไปเกาขณะนอนหลับ
      4. ลดอาการคัน ด้วยการทาน้ำมันมะกอกครีม โลชั่น ที่มีมอยส์เจอร์ไรเซอร์ เช่น ออยล์ ลาโนลิน ซีลามายด์ มีโปรตีน และมีสารที่มี ฤทธิ์อุ้มน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว เช่น กรีเซอรีน กรีเซอรอลซอลบีทอล
      5. สร้างความชุ่มชื้นให้กับผิวด้วยการดื่มน้ำเปล่าให้มากพอ      6. กินผักและผลไม้สดๆ ให้มาก เพื่อบำรุงผิวให้เนียนนุ่ม ชุ่มชื้น 
      7. หมั่นออกกำลังกายเบาๆ ให้ผิวแข็งแรง เช่น เดิน ว่ายน้ำ เพื่อลดโอกาสเกิดรอยแตกลาย 
      8. หาหมอนมารองท้องขณะนอนตะแคง เพื่อช่วยให้รู้สึกสบาย และลดการดึงรั้งของผิวด้านตรงข้ามด้วย 
      9. สวมชุดชั้นในช่วยพยุงน้ำหนักไม่ให้ถ่วงน้ำหนักผิวบริเวณหน้าท้องมากไปจนเกิดหน้าท้องลาย
      10. ถ้าคิดจะใช้ยาทา ใช้เลเซอร์รักษาท้องลาย ปรึกษาคุณหมอเพื่อความปลอดภัยต่อลูกในท้องด้วยนะคะ



ที่มา ... Mother & Care 

การอัลตร้าซาวด์จำเป็นแค่ไหน

   
 วิทยาการด้านการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความคาดหวังจากการดูแลรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ก็เพิ่มสูง ขึ้น ตลอดเวลา ทุกวันนี้จึงมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย และสามารถสื่อสารกับทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นั่นก็คือการทำ อัลตร้าซาวนด์

    ไม่มีแม่ท้องไม่รู้จัก         หากพูดเช่นนี้คงไม่ผิดค่ะ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนล้วนรู้จักและเคยผ่านการทำอัลตร้าซาวนด์มาแล้ว ทั้งนั้น เพราะเครื่องอัล ตร้าซาวนด์คือเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ที่คุณหมอสูติฯ ใช้ในการตรวจวินิจฉัยและติดตามภาวะของทารกในครรภ์ จนทำให้ว่าที่คุณ แม่สับสนว่า จริงๆ แล้วควรต้องทำการตรวจอัลตร้าซาวนด์เพื่อดูอะไรบ้างของทารกในครรภ์ และจะต้องตรวจสักกี่ครั้งจึงจะเหมาะสม
จำนวนครั้งที่ควรทำ
          บ้างบอกว่า 1-2 ครั้ง หรือมีแม้กระทั่งว่าที่คุณแม่บางคนอัลตร้าซาวนด์เป็นจำทุกเดือนที่ไปพบคุณ หมอ ซึ่งจริงๆ แล้ว ตอนนี้ยัง ไม่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าการตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ระหว่างตั้งครรภ์ควรจะทำกันกี่ ครั้งแต่ ถ้ายึดตามคำแนะนำของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์อเมริกัน ก็แนะนำให้ทำเพียงครั้งเดียวตอนอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์
        ตามความเห็นของหมอในฐานะสูตินรีแพทย์ก็เห็นด้วยว่า ว่าที่คุณแม่ควรได้รับการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ดังกล่าว เพื่อวินิจฉัยตำแหน่งของการตั้งครรภ์ ขนาดของทารกในครรภ์ ความผิดปกติของรูปร่าง การทำงานของอวัยวะ ต่างๆ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงความผิดปกติโดยกำเนิดที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ ที่สะท้อนถึงสุขภาพของทารกครับ
         สำหรับว่าที่คุณแม่ที่เป็นกลุ่มคนไข้พิเศษ เช่น ผู้ที่มีบุตรยากและตั้งครรภ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือเป็นกลุ่มที่เป็นครรภ์เสี่ยงสูง เช่น ตั้งครรภ์แฝด มี ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ควรที่จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามอายุครรภ์ต่อไปนี้
      + อายุครรภ์ 7-9 สัปดาห์         การตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ทางช่องคลอด จะช่วยให้รู้ว่าการตั้งครรภ์อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ มีตัวเด็กหรือไม่ เป็น การตั้งครรภ์เดี่ยวหรือแฝด มีเลือดออกอยู่ใต้รกหรือไม่ ไข่ตกจากรังไข่ข้างใด รังไข่มีซีสต์หรือไม่ ตัวมดลูกมีเนื้องอกร่วมกับการตั้งครรภ์ หรือเปล่า        นอกจากนี้ยังสามารถทำนายอายุครรภ์ได้แม่นยำ โดยมีความผิดพลาดประมาณ 3 วันเท่านั้นซึ่งการตรวจในช่วงเวลาดังกล่าวจะ เป็นประโยชน์ในอนาคต เพราะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการตรวจในครั้งต่อๆ ไปอีกด้วย

      + อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์
          การตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ทางช่องคลอด จะวัดขนาดความยาวของทารกที่เรียกว่า Crown Rump Length วัดความหนา ของท้ายทอยทารก ตรวจหากระดูกจมูก ซึ่งช่วยในการทำนายโอกาสที่ทารกจะมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ที่เรียกว่าดาวน์ซิ นโดรมได้กว่าร้อยละ 70 เมื่อ รวมกับการตรวจวัดระดับฮอร์โมนของแม่แล้ว จะสามารถคำนวณออกมาเป็นโอกาสเสี่ยงที่ทารกจะเป็น ดาวน์ซินโดรมได้แม่นยำมาก ขึ้นถึงประมาณร้อยละ 78         นอกจากนี้ยังสามารถบอกตำแหน่งที่รกเกาะได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยในการเฝ้าติดตามตำแหน่งของรกในอนาคตต่อไป

      + อายุครรภ์ 18-24 สัปดาห์           เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะสามารถตรวจทารกในครรภ์ทั้งตัว ได้แก่ ส่วนศีรษะ แขน ขา ลำตัว และอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ กระบัง ลม ปอด ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร เป็นต้น ในกรณีที่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย ก็สามารถที่จะปรึกษาสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การดูแลรักษาต่อไป และช่วงเวลานี้ยังเหมาะสำหรับการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อนำไปตรวจ วิเคราะห์โครโมโซมของทารกในครรภ์

      + อายุครรภ์ 32-34 สัปดาห์
         เป็นช่วงเวลาที่จะทำการตรวจทารกในครรภ์ เพื่อที่จะบอกถึงความสมบูรณ์ของทารก ความสมบูรณ์ของใบหน้า อวัยวะต่างๆ และ ขนาดของทารก ซึ่งสามารถบอกได้ว่า ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ โตเกินไป หรือเติบโตช้า เป็นต้น เพื่อทำนายน้ำหนัก แรกคลอด
          นอกจากนั้น หลังจากช่วงเวลานี้ทารกในครรภ์มักจะไม่เปลี่ยนท่าอีกแล้ว เช่น หากอยู่เป็นท่าก้นหรือท่าศีรษะก็จะอยู่ในท่านั้นจน กระทั่งครบกำหนดคลอด ว่าที่คุณแม่ก็จะรู้ได้ว่า สามารถคลอดธรรมชาติได้หรือไม่ เพราะมีเพียงส่วนน้อยที่ทารกจะเปลี่ยนท่าไปจากเดิม
        คุณแม่ผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า การตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ในช่วงเวลาต่างๆ มีหลักการเหตุผล และประโยชน์จากการ ตรวจแตกต่างกันไป และหากมีภาวะเสี่ยงอื่น เช่น มีเลือดออกในระยะ 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ สงสัยว่ามีความผิดปกติของหัวใจ หรือสงสัยว่าทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เป็นต้น ก็จำเป็นที่จะต้องตรวจอัลตร้าซาวนด์เพิ่ม เพื่อประเมินสถานะภาพของทารกในครรภ์เพิ่ม เติมค่ะ       การอัลตร้าซาวนด์นอกจากจะมีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของแม่และลูกในครรภ์แล้ว ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือว่าที่คุณแม่ และว่าที่คุณพ่อยังสามารถเก็บภาพแห่ง ความประทับใจ เพื่อนำไปบอกเล่ากับญาติพี่น้องหรือแม้กระทั่งกับเจ้าตัวเล็กที่กำลังจะเติบ โตมา ในอนาคตได้อีกด้วยนะคะ

ที่มา ... http://goo.gl/wA5N6 

คุณแม่กลัวอ้วน มีผลต่อหนูนะ

  


 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเผยว่า การอดอาหารในระหว่างการตั้งครรภ์ ช่วงแรก ๆ จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ อาจทำให้ทารกมีสติปัญญาต่ำลง และเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมด้วย ซึ่งอันตรายนี้จะเกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารแคลอรี่ต่ำ ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และพบความเสี่ยงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในแม่วัยรุ่นและแม่วัยกลางคน งานวิจัยนี้ปรากฏในวารสารวิชาการฉบับล่าสุดของ National Academy of Sciences          นักวิจัยได้เปรียบเทียบแม่ลิงบาบูนสองกลุ่ม ที่อยู่ในศูนย์วิจัยลิงของมูลนิธิตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อการวิจัยชีวแพทย์ (Southwest Foundation for Biomedical Research) โดยกลุ่มหนึ่งได้รับอนุญาตให้กินมากเท่าที่พวกมันต้องการ ในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ ขณะที่อีกกลุ่มถูกจำกัดอาหารให้เหลือเพียงน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเป็นอาหารที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ช่วงแรก ๆ กิน โดยเฉพาะผู้ซึ่งมีอาการแพ้ท้อง
          ในกลุ่มแม่ลิงบาบูนที่ถูกจำกัดอาหารในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ นักวิจัยพบว่า ทารกในครรภ์จะได้รับอันตรายจากการเชื่อมต่อของเซลล์และการแบ่งเซลล์ และมีการเจริญเติบโตของส่วนต่าง ๆ ลดลงด้วย และยังพบอีกว่า การได้รับสารอาหารที่จำกัด จะส่งผลให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท และยีนนับร้อย ๆ ที่ควบคุมเซลล์สำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาด้านต่าง ๆ

          ดร.ปีเตอร์ นาธานนีลซ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการตั้งครรภ์และทารกแรกเกิด มหาวิทยาลัยเท็กซัส กล่าวว่า "การค้นพบในงานวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกเป็นระยะวิกฤตที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองกำลังสร้างเซลล์ประสาทและเซลล์ค้ำจุน (เซลล์ที่ช่วยเหลือการทำงานของเซลล์ประสาท)"         ถึงแม้ว่าการวิจัยครั้งนี้จะวิจัยในสัตว์ แต่ ดร.ปีเตอร์ก็เชื่อว่าผลวิจัยอ้างอิงกับมนุษย์ได้ โดยมีการวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่า การขาดสารอาหารของหญิงมีครรภ์ เช่นเดียวกับที่ได้ทดลองกับลิงบาบูน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของทารกอย่างมีนัยสำคัญ
         ดร.โธมัส แม็คโดนัลด์ นักวิจัยอาวุโสระบุว่า "การศึกษานี้แสดงให้เห็นเพิ่มเติมถึงความสำคัญของสุขภาพที่ดี และโภชนาการที่ดีของหญิงมีครรภ์" เขากล่าวอีกว่า "งานวิจัยนี้สนับสนุนความคิดที่ว่า การขาดสารอาหารระหว่างตั้งครรภ์จะยับยั้งการพัฒนาอวัยวะของทารก ในกรณีของสมอง พบว่าจะส่งผลกระทบระยะยาวกับเซลล์สมอง ทำให้ทารกมีสติปัญญาต่ำลง และนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรม" ดร.โธมัสสรุปว่า "ผลวิจัยนี้ชี้ชัดในวงกว้างว่า แม่จะสามารถปกป้องทารกในครรภ์ของพวกเธอด้วยโภชนาการที่ดี"

         สำหรับคุณแม่ การใส่ใจเรื่องสุขภาพของคุณเองมีความสำคัญต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ แม้ว่าคุณจำเป็นต้องกินอาหารให้เพียงพอสำหรับสองคน แต่ยังไงก็ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง เนื่องจากมีผลการศึกษาชี้ว่า การกินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป ส่งผลกระทบทางลบ ทำให้เสี่ยงต่อโรคที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์ การกินอาหารเพื่อสุขภาพในปริมาณที่พอเหมาะ จะช่วยให้คุณได้สารอาหารที่เพียงพอ และน้ำหนักไม่เพิ่มมากจนเกินไปค่ะ
ที่มา ... Mother & Care

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อาการแพ้ท้องและการแก้ไข


อาการแพ้ท้อง เป็น อาการที่พบบ่อยในผู้ที่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ (ภายใน 3 เดือนแรก) คือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นมากหรือน้อยในแต่ละคนแตกต่างกันไป ไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่นอนเชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ มักไม่มีอันตรายอะไร ยกเว้นคนที่อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้ทั้งวันหลายๆวันจนเกิดภาวะ ขาดอาหาร น้ำ และเกลือแร่
ทำอย่างไรไม่ให้มีอาการแพ้ท้อง
เนื่อง จากเราไม่ทราบสาเหตุของการแพ้ท้องจึงยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่จากการสังเกตเราจะพบว่าเมื่อตั้งครรภ์จะมีอาการหิวบ่อย อ่อนเพลียง่าย ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีความไวต่อกลิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะกลิ่นอาหารที่อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ (การชอบหรือไม่ชอบชนิดอาหารขณะตั้งครรภ์ อาจเปลี่ยนไปจากก่อนตั้งครรภ์)

ถ้า หิวแล้วบางคนจะกระวนกระวายมาก และถ้าไม่ได้รับประทานอาหารทันทีขณะหิวจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรับประทาน อะไรไม่ได้และหิวเป็นวงจรให้คลื่นไส้อาเจียนเรื่อย ๆ ได้ อาการแพ้ท้องมักมีมากขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนเพลียด้วย

ข้อแนะนำ คือ

1. พักผ่อนให้เพียงพอทั้งทางร่างกายและจิตใจ
2. เมื่อหิวควรหาอาหารรับประทานทันที ไม่ควรรอเวลาหรือรอให้หิวจัด จะพบว่าจะเริ่มหิวทุก 2-3 ช.ม. ไม่ว่าจะรับประทานอาหารมากหรือน้อยก่อนหน้านี้ จึงควรนำอาหารที่ชอบ พกพาสะดวกติดตัวไว้ด้วยเสมอเพื่อหยิบรับประทานได้ทันทีที่หิว ไม่ควรรับประทานครั้งละมาก ๆ ควรรับประทานแค่หายหิวในแต่ละครั้ง ดื่มน้ำทีละน้อย บ่อย ๆ ป้องกันร่างกายขาดน้ำ
3. ในระยะนี้เลือกรับประทานอาหารที่ชอบก่อน ยังไม่ต้องคำนึงว่ามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด
4. การรับประทานวิตามินรวมจะช่วยให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น โดยเฉพาะวิตามินบี 6 ยังไม่ควรรับประทานยาบำรุงเลือดที่เข้าแร่เหล็ก เพราะจะทำให้คลื่นไส้ได้ เลือกรับประทานยี่ห้อที่มีกลิ่นรสที่เราชอบ
5. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด มีเครื่องเทศมาก
6. ควรรับประทานอาหารเบาๆ (เช่น แครกเกอร์) และ/หรือ เครื่องดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอน จะทำให้หลับสบาย ควรเตรียมไว้ที่ห้องนอน เผื่อลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกแล้วรู้สึกหิว จะได้ดื่ม-รับประทานได้ ตอนเช้าควรดื่มเครื่องดื่มที่เตรียมไว้ หรือรับประทานแครกเกอร์เมื่อตื่นนอนขึ้นทันทีก่อนลุกจากเตียงไปทำกิจวัตร ประจำวัน

การรับประทานยาแก้แพ้ท้อง
ยาที่ป้องกันอาเจียนมีหลายชนิด แต่ที่นับว่าปลอดภัยมีอยู่ 2-3 ชนิด ท่านควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแล

ถ้าแพ้ท้องมากจนเสียความสมดุลย์น้ำและเกลือแร่ ท่านจะมีอาการอ่อนเพลียมาก ควรนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือแร่ทดแทน

เมื่อไรควรรีบไปโรงพยาบาลจากอาการแพ้ท้อง
1. เมื่อปัสสาวะออกน้อย (< 500 ซซ./วันหรือ 20 ซซ./ชม.) และมีสีเหลืองเข้ม
2. ดื่มน้ำไม่ได้เลยทั้งวัน
3. มีอาการหน้ามืดเมื่อลุกขึ้นยืน
4. อาการใจสั่น เต้นแรงมาก
5. อาเจียนมีเลือดปนออกมา แสดงว่ามีอาการแพ้ท้องมากเกิน เข้าเขตอันตรายแล้ว
ขอคุณข้อมูลจาก                                                                                          นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ท้องกินน้ำมันปลาได้หรือไม่


ท้องกินน้ำมันปลาได้หรือไม่
น้ำมันปลาคืออะไร
น้ำมันปลา หรือ Fish oil หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเหมือนกับน้ำมันตับปลา แต่ความจริงเป็นไขมันของปลาซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จําเป็นต่อร่างกาย คือ กรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 (Omega-3) ซึ่งปลาทะเลในประเทศแถบอากาศหนาวนั้นจะมีกรดไขมันจําเป็นในปริมาณที่สูง และมีไขมันประเภทคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในปริมาณที่ต่ำ จึงนิยมนําปลาทะเลเหล่านี้มาสกัดเอาน้ำมันปลา
มีประโยชน์กับแม่ท้องอย่างไร
ไขมันในน้ำมันปลาจะช่วยสร้างองค์ประกอบที่สําคัญของเซลล์หรือเนื้อเยื่อของ ร่างกาย รวมทั้งเนื้อสมอง เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ควบคุมการเกิดลิ่มเลือด และสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย โดยเฉพาะโอเมก้า 3 จะช่วยลดการเกิดลิ่มเลือดที่จะไปอุดเส้นเลือดฝอยของหัวใจ และทําให้ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ซึ่งเป็นไขมันอันตรายลดต่ำลงการกินน้ำมันปลาอาทิตย์ละ 2 ครั้ง จะช่วยลดอาการอักเสบของข้อกระดูกของแม่ท้องได้ ทั้งนี้แม่ท้องควรเริ่มทานน้ำมันปลาตั้งแต่อายุครรภ์ 7 สัปดาห์ โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายถึงแม้โอเมเก้า 3 จะเป็นกรดไขมันที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ แต่หากคุณแม่ท้องกินน้ำมันปลาชนิดเม็ดหรือแคปซูลมากเกินไป ก็จะเกิดการสะสมในร่างกายตามอวัยวะต่างๆ จนอาจจะก่ออันตรายได้ และหากบริโภคเกินความต้องการอาจก่อให้เกิดความพิการต่อทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ คุณแม่ท้องควรหยุดกินน้ำมันปลาเมื่อตั้งครรภ์ 6-7 เดือน เพราะจะทําให้เกล็ดเลือดจับตัวกันลดลง ซึ่งแม้เป็นผลดีที่ช่วยไม่ให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือด แต่อาจทําให้เลือดแข็งตัวช้าเมื่อเกิดบาดแผลหรือผ่าตัดดังนั้น คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำมัน ปลาในรูปของยาเม็ดหรือแคปซูล และหันมากินน้ำมันปลาจากการเลือกบริโภคอาหารแทน เพราะในอาหารจะมีความสมดุลของกรดไขมันต่างๆ อย่างพอเหมาะ และราคาถูกกว่าด้วย
พบในอาหารชนิดใด
กรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำมันปลานั้น มีอยู่ในปลาชนิดต่างๆ ซึ่งปลาซาร์ดีนจะมีโอเมก้า 3 ในปริมาณที่สูง รวมถึงปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลากะพงแดง และยังพบได้ในกุ้งและปูทะเลด้วยนอกจากนี้ โอเมก้า 3 ยังมีอยู่ในธัญพืชชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ถั่วอัลมอลต์ เมล็ดฟักทอง เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก baby2talk.com

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

น้ำหนักขณะตั้งครรภ์

น้ำหนักควรขึ้นเท่าไรเมื่อตั้งครรภ์
ลักษณะร่างกายก่อนตั้งครรภ์ น้ำหนักที่ควรขึ้นทั้งหมด (ก.ก.)

-  ผอม  น้ำหนักน้อย 12.5 – 18
-  ปกติ  น้ำหนักในเกณฑ์เฉลี่ย 11-16
-  ท้วม  น้ำหนักมาก 7-11
-  อ้วน 7
-  มีลูกแฝด 16-20

น้ำหนักที่ขึ้นไปอยู่ที่ส่วนไหนบ้าง

ในคนที่รูปร่างเฉลี่ยปกติ  น้ำหนักควรขึ้นตลอดการตั้งครรภ์  11-16 ก.ก.  แบ่งเป็น

- กล้ามเนื้อ + ไขมัน 3.1  ก.ก.
- เลือด   1.8 ก.ก.
- น้ำในร่างกาย  1.8 ก.ก.
- เต้านม  0.9 ก.ก.
- มดลูก   0.9 ก.ก.
- ตัวเด็ก   3.4 ก.ก.
- รก   0.7 ก.ก.
- น้ำคร่ำหุ้มตัวเด็ก 0.9 ก.ก.

ไวรัสตับอักเสบบีในสตรีตั้งครรภ์



โรคไวรัสตับอักเสบบี
เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย เมื่อเป็นแล้วบางคนมีอาการน้อยคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดา บางคนมีอาการมาก ที่สังเกตได้คือตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลียมาก ปัสสาวะสีเข้ม ที่มีอาการมากๆเป็นเพราะตับถูกทำลายมาก อาจถึงเสียชีวิตได้ ถ้าไม่เสียชีวิตบางส่วนที่มีอาการดีขึ้นก็จะมีการสร้างภูมิต้านทานในร่างกาย บางส่วนก็กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง มีเชื้อไวรัสอยู่ในเนื้อตับและออกมาในกระแสเลือดอยู่ตลอดเวลา

บุคคลที่เป็นภาวะตับอักเสบเรื้อรังบางทีเรียกทั่วๆไปว่าเป็น พาหะของโรค จริงๆก็คือมีการอักเสบของตับตลอดเวลา อาจมีอาการเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือไม่มีอาการเลยก็ได้ บุคคลเหล่านี้มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้สูงกว่าคน ไม่มีเชื้อถึงกว่า 200 เท่า

ตับอักเสบขณะตั้งครรภ์สตรี ที่ตั้งครรภ์และมีภาวะตับอักเสบบีเรื้อรัง คือตรวจเลือดพบไวรัสตับอักเสบบีในกระแสเลือด มีความสำคัญคือ มีโอกาสถ่ายทอดไปยังลูกที่เกิดออกมาได้ และทำให้ลูกเป็นโรคตับอักเสบบีเรื้อรังในภายหลังได้มาก ถ้าไม่มีการป้องกัน และเคยมีการสำรวจในประเทศไทยพบสตรีตั้งครรภ์เป็นโรคตับอักเสบบีเรื้อรังอยู่ ถึง 8-10 % และพบว่าคนในแถบเอเชียก็เป็นกันมากเหมือนๆกัน คนที่เป็นพาหะสามารถแพร่เชื้อไปที่คนอื่นได้ด้วย

คนไทยที่เป็น ผู้ใหญ่และไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันเลย พบว่ามีโอกาสติดเชื้อถึง 50% แต่ส่วนใหญ่จะสร้างภูมิต้านทานได้เองมีส่วนน้อยกลายเป็นเรื้อรังหรือเป็น พาหะ แหล่งแพร่เชื้อคือ คนที่กำลังเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ทั้งที่เป็นเฉียบพลันและเรื้อรัง ติดต่อทางสารคัดหลั่ง เช่น น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำอสุจิ และเลือด และการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
การถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดาไปสู่ทารก
มี ความสำคัญมากเพราะทารกที่ติดเชื้อจากมารดาที่เป็นพาหะมักไม่มีอาการแต่จะ กลายเป็นโรคตับอักเสบบีเรื้อรังต่อไป ถ้าแม่มีอาการตับอักเสบบีเฉียบพลันขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสติดไปที่ลูกมากกว่าที่เป็นเรื้อรังหรือพาหะธรรมดา

การติดต่อโรคของลูกจากแม่ เชื่อว่าเกิดจากได้รับเชื้อจากเลือดของแม่ขณะคลอดหรือหลังคลอด ซึ่งมีการตรวจพบเชื้อไวรัสบี ( HbsAg ) ได้ภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด จากการศึกษาพบว่าทารกแรกคลอดมีโอกาสติดเชื้อได้ 35-80%

จะทราบอย่างไรว่าตัวเองเป็นพาหะตับอักเสบบีและติดไปถึงลูกได้
จะ ทราบได้โดยการตรวจเลือดพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (AbsAg) และถ้าตรวจพบว่ามีสารที่เรียก HbeAg ก็จะติดไปยังลูกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การตรวจพบว่าตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในกระแสเลือดแม่ขณะตั้งครรภ์ก็มี โอกาสทำให้ลูกที่คลอดออกมาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ และส่วนใหญ่ของทารกที่ติดเชื้อจะเป็นแบบเรื้อรังคือมีภาวะเป็นพาหะไวรัสตับ อักเสบบีในภายหลัง

ถ้าแม่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีจะป้องกันลูกที่เกิดมาได้อย่างไร
เนื่อง จากทารกที่คลอดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีการติดเชื้อจากแม่ในอัตราที่สูงและมีโอกาสเป็นโรคแบบเรื้อรังสูงด้วย จึงมีการทำการป้องกันโดยฉีดสารภูมิต้านทานให้ลูกภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด

เพื่อ ให้ลูกมีภูมิเกิดขึ้นเลยทันที ในขณะเดียวกัน ก็ฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้เองในภายหลังด้วย โดยฉีดเมื่อแรกคลอด , 1 เดือน , 2 เดือน , 6 เดือน และ 12 เดือนตามลำดับ

ถ้าให้วัคซีนในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์จะมีผลเสียต่อทารกในครรภ์หรือไม่ปัจจุบัน ยังไม่พบมีอันตรายต่อเด็กในครรภ์ สามารถฉีดได้ 3 ครั้ง เหมือนคนทั่วไป คือ ครั้งแรก ต่อไปอีก 1 เดือนและ 6 เดือนตามลำดับ ทั้งนี้หมายความถึงคนที่ไม่มีเชื้อเป็นพาหะและยังไม่มีภูมิต้านทานอยู่

ปัจจุบัน ได้มีการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีให้กับเด็กแรกเกิดตามแผน การให้วัคซีนเด็กทุกคนเหมือนกับการป้องกันโรคอื่นๆด้วย

อาการเจ็บครภ์เตือนและเจ็บครรภ์จริง



ปวดเตือน

มดลูกจะบีบตัวไม่สม่ำเสมอ ไม่แน่ไม่นอน การบีบแต่ละครั้งไม่เท่ากันทั้งความแรงและระยะเวลา (มักครั้งละไม่เกิน 30 วินาที) ขณะเริ่มมีการบีบตัวของมดลูก ถ้าเราเปลี่ยนท่าทางหรือเดินหรือพักจากขณะเดินอยู่ หรือเปลี่ยนอิริยาบถ อาการบีบตัวของมดลูกก็จะหายไป แม้เวลาผ่านไปอาการปวดไม่รุนแรงขึ้นและไม่ถี่ขึ้น และถ้าจะมีการปวดตอนมดลูกบีบตัว มักจะปวดบริเวณหน้าท้อง ไม่ร้าวไปที่ใด

ปวดท้องคลอดจริง


อาการ ปวดท้องจากมดลูกหดตัวจะค่อนข้างสม่ำเสมอและจะถี่ขึ้น ปวดมากขึ้นตามลำดับ เช่นจากทุก 10 นาที มาเป็นทุก 5 นาที ปวดนานคราวละ 20 นาที เป็น 30-40 นาทีขึ้นไปเป็นต้น

นอกจากนี้แม้จะขยับตัวเปลี่ยนท่าทางอย่างไรก็จะ ยังปวดเหมือนเดิม อาการปวดก็มักจะร้าวไปที่ด้านหลังและถ่วงลงล่างไปที่ก้น ความรุนแรงของการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงแนะนำว่าถ้าท่านรู้สึกปวดท้อง สงสัยจะคลอดให้ลองสังเกตประมาณ 1 ช.ม. ถ้าปวด 6-10 ครั้ง ค่อนข้างสม่ำเสมอก็แปลว่าปวดท้องคลอดจริงแล้ว ถ้ามีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอดยิ่งจริงมากขึ้น

และถ้ามีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วยต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แม้จะมีหรือไม่มีอาการปวดท้องคลอดก็ตาม

1. มีถุงน้ำแตก (น้ำเดิน) คือมีน้ำคล้ายปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอด
2. มีเลือดสด ๆ ออกมาที่ไม่ใช่มูกปนเลือด
3. เด็กไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวน้อยกว่า 3 ช.ม.

โรคปวดหลังขณะตั้งครรภ์



อาการ ปวดหลังขณะตั้งครรภ์พบได้บ่อยมาก  จะเกิดตอนช่วงใดขณะตั้งครรภ์ก็ได้  สาเหตุของการปวดหลังมีหลายอย่าง  ข้อเขียนนี้จะแนะนำวิธีง่าย ๆ บางวิธีที่จะทำให้ผ่อนคลายได้

สาเหตุของอาการปวดหลัง
ว่ากันว่ามากกว่า 50% ของสตรีตั้งครรภ์มีอาการปวดหลัง  ตำแหน่งที่ปวด  มักจะเป็นบริเวณเอว, ก้นกบ, ขาหนีบและต้นขา  บริเวณหัวเหน่า และที่หลังส่วนบน  ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก

1. น้ำหนักที่มากขึ้น

2. จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนไป  ทำให้คุณต้องปรับตัว  ปรับท่าทางโดยอัตโนมัติ  ซึ่งบางท่าทางอาจทำให้คุณปวดหลังได้

3. ผล จากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ชื่อ Relaxin ทำให้เส้นเอ็นของข้อต่อต่าง ๆ ยืดตัว  ทำให้ข้อหลวมโดยเฉพาะบริเวณข้อหลังส่วนล่างและข้อกระดูกเชิงกรานเพื่อเตรียม ความยืดหยุ่นขณะมีการคลอด 

การหย่อนหลวมดังกล่าวทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายลำบากขึ้น  โดยเฉพาะตอนเดินลงบันไดจะเห็นได้ชัดเจน

อาการ ปวดหลังเกิดช่วงใดของการตั้งครรภ์ก็ได้แตกต่างกันเป็นคน ๆ ไป  บางครั้งทำให้การเดิน- การนอนมีความลำบากและมีปัญหา  พักผ่อนไม่เพียงพอ

การป้องกันแก้ไข

1. สนใจ เรื่องการวางท่าทาง (posture) ขณะนอน  นั่ง  ยืน  เดิน ให้ถูกสุขลักษณะตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์  และตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์  พยายามอย่าให้หลังแอ่นเกินไป  ดึงตะโพกมาด้านหน้า และยืดไหลให้ตั้งตรงไว้เสมอ ๆ ในขณะนั่งและยืน  ยิ่งท้องแก่ ๆ น้ำหนักท้องจะดึงให้หลังแอ่นมากขึ้น 

ถ้าออกกำลังกายสม่ำเสมอทั้งก่อนและหลังตั้งครรภ์  จะช่วยให้มีกำลังกล้ามเนื้อสู้กับส่วนนี้ได้ดี

2. เวลา นั่งให้วางเท้า  โดยเข่าสูงกว่าตะโพกเล็กน้อย อย่านั่งไขว้ห้าง  หลังตรง  ก้นชิดพนักเก้าอี้ถ้าต้องการพิงพนัก ขยับเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ อย่าอยู่ท่าเดียวนาน ๆ น้ำหนักตัวให้ลงที่ต้นขา 2 ข้าง  ไม่ใช่ทดไปที่กระดูกก้นกบ  เวลายืนอย่ายืนนิ่งนาน ๆ  เปลี่ยนท่าบ่อย ๆ   ถ้าต้องยืนนานให้เท้าข้างหนึ่งยืน  อีกข้างหนึ่งได้วางอยู่ที่ราวเท้าสูงขึ้นมา 10-15 ซ.ม. แล้วสลับไปมา

3. เวลา นอนหงาย  ให้หมอนหนุนใต้เข่าพอรู้สึกสบาย  ถ้านอนตะแคงให้งอเข่า 1-2 ข้าง  เข่าด้านบนหนุนด้วยหมอนนุ่ม ๆ หรือหมอนขั้นอยู่ระหว่างเข่า 2 ข้าง  และมีหมอนอีกใบหนุนท้องไว้

4. หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรืออุ้ม  เวลายกของอย่างยืนก้มหลังลงไปยกของ  ให้ย่อเข่า  หลังตรง  ยกของแล้วลุกขึ้นแทน  พยายามอย่ายืดแขนหยิบของในที่สูงเร็ว ๆ ให้ทำช้า ๆ

5. ใส่รองเท้าส้นเตี้ย  การใส่ชุดพยุงบริเวณหลังส่วนล่างจะช่วยให้สบายขึ้น

6. ถ้ามีอาการปวด  ให้ใช้วิธีประคบร้อนหรือประคบเย็น  ก็จะช่วยได้

7. ให้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้หน้าท้องและหลังแข็งแรง  การว่ายน้ำ หรือการออกกำลังในน้ำเป็นวิธีที่น่าเลือกทำขณะตั้งครรภ์  การฝึกโยคะ  ฝึกท่าบริหารที่แนะนำสำหรับหลังและสะโพกคือ ท่าแมวโก่งตัว  คือ คุดเข่า 2 ข้าง  มือ 2 ข้างยันพื้น  ศีรษะและหลังตรงแนวขนานกับพื้น  แล้วโก่งหลังขึ้นค้างไว้ 5 วินาทีแล้วผ่อนลงช้า ๆ  ทำซ้ำคราวแรก ๆ เริ่มที่ 5 ครั้งต่อไป  เพิ่มเป็นวันละ 10 ครั้ง และโก่งหลังให้นานขึ้น

ถ้า ลองทำที่ว่านี้แล้วไม่ดีขึ้น  หรือมีอาการมากก็ลองปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลใหม่  และถ้าอาการมาก ๆ อาจมีโรคอื่นแทรกอยู่หรืออาจเป็นการเริ่มจะมีการคลอดก็ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
 นพ.ธีรศักดิ์  ธำรงธีระกุลและทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และภาวะครรภ์เป็นพิษ


ความหมาย

ความดันโลหิตสูง
หมายถึง เมื่อความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว (ตัวบน) เท่ากับหรือมากกว่า 140 มม.ปรอท และขณะหัวใจคลายตัว (ตัวล่าง) เท่ากับหรือมากกว่า 90 มม.ปรอท (สูงกว่า 140/90) โดยวัดในขณะพัก และวัดได้ค่าสูงอย่างนี้ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

ความสำคัญ

เมื่อ มีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด จะนำมาซึ่งอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ อันตรายของมารดา คือ ทำให้เกิดผลจากการหดตัวมากเกินไปของเส้นเลือดแดง (ซึ่งทำให้เกิดความดันโลหิตสูง) ทำให้เลือดไหลเวียนในร่างกายส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญ ได้แก่ สมอง, ไต, หัวใจ ไม่ดี ทำให้อวัยวะทำงานล้มเหลว (organ failures) การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ทำให้มีการเกิดลิ่มเลือด เส้นเลือดอุดตัน และการแข็งตัวของเลือด (ถ้ามีเลือดออก) ผิดปกติ

นอกจากนั้น การมีความดันโลหิตสูงอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก และหัวใจวายเพราะหัวใจทำงานหนักเกินไป ผลเสียที่จะเกิดกับทารก คือ ทำให้การเปลี่ยนถ่ายอาหารและของเสียระหว่างมดลูกกับรกไม่ดี ทำให้การเจริญเติบโตของทารกผิดปกติ โอกาสเกิดการขาดออกซิเจนในครรภ์มีง่ายขึ้น จึงทำให้ทารกตายในครรภ์ และความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบของแม่และทารกทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้มาก ขึ้น

สาเหตุ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เกิดได้ 4 ประการคือ

1. มีความดันโลหิตสูงเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคไต ฯลฯ

2. อาการครรภ์เป็นพิษ  คือเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และมีไข่ขาวในปัสสาวะ อาจมีอาการบวมร่วมด้วย มักเกิดขึ้นตอนครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ (ถ้าเกิดตอนครึ่งแรก มักว่ามีโรคอย่างอื่นผสมอยู่ด้วย เช่น โรคไต ครรภ์ไข่ปลาอุก )

สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน พบมากกว่าปกติในรายที่เป็นครรภ์แรก, ครรภ์แฝด, มารดาอายุมาก เบาหวาน ความดันโลหิตสูงชนิดนี้มีอาการต่างกับชนิดแรก คือ มีอาการบวม และมีไข่ขาวในปัสสาวะร่วมด้วย เมื่อคลอดแล้วอาการกลับเป็นปกติ

3. เป็นความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แล้วมีอาการครรภ์เป็นพิษมาผสมโรงด้วย

4. อาการความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เป็นการชั่วคราว โดยก่อนหน้าตั้งครรภ์ปกติ เมื่อตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูงอย่างเดียว เมื่อคลอดแล้วกลับเป็นปกติ อาการ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นแบบไม่รุนแรง (ความดันโลหิตไม่เกิน 160/110 มม.ปรอท) มักจะไม่มีอาการอะไร บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะบ้าง ปวดแบบหนัก ๆ ตื้อๆ บางคนสังเกตว่ามีอาการน้ำหนักขึ้นเร็ว และมากกว่าปกติ บางคนรู้สึกมีอาการบวม ตึงที่หน้าผากเมื่อตื่นนอนตอนเช้า และบวมที่ขาหน้าแข้งกดยุบ ตอนสาย ๆ หรือกลางวัน

ถ้าเป็นชนิดรุนแรง (ความดันโลหิต 160/110 มม.ปรอท ขึ้นไป) มักจะมีอาการปวดศีรษะเป็นอาการนำ บางคนก็แค่รู้สึกบวมมากอย่างเดียว หรือเป็นทั้งสองอย่างร่วมกัน บางคนรู้สึกว่าเด็กดิ้นน้อยลง ถ้าเป็นมากจนรกขาดเลือดอาจทำให้เด็กโตช้า ตัวเล็กกว่าปกติหรือทารกตายในครรภ์ (เด็กไม่ดิ้น)

การวินิจฉัย

คน ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนตั้งครรภ์ มักวินิจฉัยได้ตั้งแต่การซักประวัติ และการตรวจความดันโลหิตครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ ถ้าเริ่มเป็นขณะตั้งครรภ์ก็จะตรวจพบเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งต่อ ๆ มา หรือเมื่อมีอาการที่กล่าวข้างบน มาพบแพทย์ แล้วแพทย์ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูง

เกณฑ์การบอกว่ามีความดันโลหิต สูง จะวินิจฉัยเมื่อความดันโลหิต เท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มม.ปรอท (แพทย์บางคนที่ระวังมากหน่อยก็จะตั้งเกณฑ์ที่ 130/85 มม.ปรอท) โดยวัดขณะพัก 2 ครั้ง ช่วงห่างกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือ คนไข้บางคนที่ความดันโลหิตปกติค่อนข้างต่ำอยู่ (เช่นเดิมปกติ 100/60 มม.ปรอท)

เราก็ให้เกณฑ์ว่าเมื่อความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจากเดิม เมื่อตอนหัวใจบีบตัว 30 มม.ปรอท และเพิ่มจากเดิมเมื่อหัวใจคลายตัวมากกว่า 15 มม.ปรอท (เช่น ขึ้นเป็น 130/75 มม.ปรอท ขึ้นไป)

การจะวินิจฉัย ว่ามีอาการครรภ์เป็นพิษ ก็ดูจากการตรวจหาไข่ขาว (albumin) ปนออกมากับปัสสาวะเท่ากับหรือมากกว่า 300 มก.ต่อปัสสาวะ 100 มล. หรือตรวจโดยใช้แผ่นตรวจปัสสาวะมีไข่ขาว 1+ (มากที่สุด 4+) ขึ้นไป

ใน ขณะเดียวกันแพทย์จะตรวจหาโรคบางอย่างของร่างกาย ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ที่ทำให้เป็นสาเหตุเบื้อง ต้นของอาการครรภ์เป็นพิษนี้ด้วย เช่น การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก การตั้งครรภ์แฝด ความผิดปกติบางอย่างของทารกในครรภ์ (Hydropfetalis) การมีโรคไต เบาหวาน เอสแอลอี (SLE) รูมาตอยด์ เป็นต้น เพื่อรักษาที่ต้นเหตุด้วย

แพทย์จะต้องคอยดูว่าอาการที่เป็นนี้เป็น ชนิดอ่อน ๆ (อาการไม่มาก) หรือ ชนิดรุนแรง เมื่อเป็นชนิดอ่อนในตอนแรกกก็อาจเปลี่ยนแปลงเป็นชนิดรุนแรงในเวลาต่อมาได้ และเมื่อเป็นชนิดรุนแรงก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น ที่เกิดกับแม่ คือ มีอาการชัก (เรียกว่า Eclampsia) แล้วทำให้มีเส้นโลหิตแตกในสมอง สมองบวม ปอดคั่งเลือดและหัวใจวายถึงเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ยังมีผลแทรกซ้อน ทำให้ตับบวม ทำงานผิดปกติถึงขั้นตับวาย หรือมีผลต่อระบบการแข็งตัวของเลือดทำให้มีการแข็งตัวของเส้นเลือดฝอย ตามอวัยวะต่าง ๆ และมีผลให้เกิดภาวการณ์แข็งตัวของเลือดผิดปกติตามมา ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกคือทำให้เจริญเติบโตช้า ไม่แข็งแรง คลอดก่อนกำหนด และเสียชีวิตในครรภ์

ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ล้วนทำให้เกิดความรุนแรง ถึงชีวิตของแม่และทารกได้ รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือจำเป็นต้องให้มีการคลอดก่อนกำหนดเพื่อยุติการตั้งครรภ์ เพื่อยุติความรุนแรงของโรค (หลังคลอดอาการครรภ์เป็นพิษจะดีขึ้นได้เองเกือบทั้งหมด)

การรักษา

เริ่ม ที่การเฝ้าระวังในขณะมีการตั้งครรภ์ โดยการตรวจความดันโลหิต การตรวจปัสสาวะและชั่งน้ำหนักทุกครั้งที่มาตรวจ มีการดูแลเฝ้าระวังเป็นพิเศษในคนที่มีโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นได้ง่ายกว่าคนอื่น ในรายที่มีความดันโลหิตสูง หรือภาวะครรภ์เป็นพิษในระดับไม่รุนแรง มักให้การรักษาโดยการให้พักผ่อนเป็นหลัก อาจต้องให้นอนพักที่โรงพยาบาลเพื่อควบคุมโรคและเฝ้าระวังการกลายไปเป็นขั้น รุนแรง

ในขณะเดียวกันก็จะเฝ้าระวัง ติดตามดูความเจริญเติบโตของทารกและภาวะที่อาจจะเป็นอันตรายต่อทารก เช่น การตรวจความดันโลหิตบ่อย ๆ เก็บปัสสาวะสำหรับตรวจ 24 ช.ม. เจาะเลือด ตรวจอัลตราซาวนด์ดูการเจริญเติบโตทารก และนัดหมายบ่อยขึ้น

ในรายที่ เป็นขั้นรุนแรง ก็จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อลดความดันโลหิต และ/หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตราย และอาจต้องพิจารณาให้มีการคลอดไม่ว่าโดยธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอดแล้วแต่สภาพ ของแม่และทารกว่ามีความเร่งด่วนหรือไม่ แพทย์จะพิจารณาถึงความปลอดภัยทั้งของแม่และทารกเป็นหลักในการรักษา

นั่น คือ ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนมากที่อาจเป็นอันตราย ก็ต้องให้มีการคลอดเกิดขึ้น แต่ถ้ายังไม่มีภาวะแทรกซ้อนการรอจนครบกำหนด จะมีความปลอดภัยมากกว่า โดยมีขั้นตอนการตรวจรักษาต่าง ๆ หลายวิธี การมีภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก ถ้ามีการวินิจฉัยได้รวดเร็วและรีบแก้ไขก็อาจทำให้ลดอันตรายต่อทั้งมารดาและ ทารกได้

นอกจากการให้พักผ่อนให้มากที่สุดแล้ว อาจมีการให้ยาลดความดันโลหิต การให้ยาป้องกันการชัก การเฝ้าระวังภาวะผิดปกติต่อทารก เช่นการติดตามดูลักษณะการเต้นของหัวใจ และการเคลื่อนไหวของทารกว่าปกติหรือจะเป็นอันตรายแล้ว เป็นต้น

ใน รายที่เป็นยังไม่รุนแรง อาการอาจจะดีขึ้นเองได้ แพทย์จะให้มาติดตามดูเป็นระยะ ๆ อย่างใกล้ชิด แต่ในรายที่เป็นรุนแรง อาการมักจะไม่ดีขึ้นถึงขนาดให้กลับบ้านได้ แต่อาจจะสามารถรักษาประคับประคองจนทารกโตพอที่จะให้คลอดได้โดยปลอดภัย

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเพื่อการป้องกันและรักษา
1. ผู้ป่วยสามารถช่วยแพทย์ให้นึกถึงหรือคอยระวังให้เป็นพิเศษได้ โดยการบอกประวัติการเจ็บป่วย หรือมีโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบเมื่อไปฝากครรภ์ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคไต โรคเอสแอลดี (SLE) โรคข้อรูมาตอยด์ ความดันโลหิตสูง ธัยรอยด์เป็นพิษ โรคอื่นๆที่ต้องรักษาเรื้อรังนาน ๆ

2. การฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มแรกที่ทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้มีข้อมูลการตรวจพื้นฐานเบื้องต้นก่อนมีอาการ ( ปัจจุบันคนไทยมีการตรวจร่างกายก่อนแต่งงานและก่อนตั้งครรภ์กันมากขึ้น นับว่ามีประโยชน์มาก)

3. ให้สังเกตว่าตัวเองขณะตั้งครรภ์ว่ามีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ หรือไม่ น้ำหนักตัวขึ้นเร็วเกินไปหรือเปล่า มีอาการกดบุ๋ม (บริเวณผิวหน้าแข้งส่วนที่ติดกับกระดูก) หรือไม่

4. ไปฝากครรภ์สม่ำเสมอ ทุกครั้งที่ไปฝากครรภ์จะมีการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะดูน้ำตาลและไข่ขาวด้วย

5. ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษแล้ว ต้องเคร่งครัดตามคำแนะนำแพทย์ พักผ่อนให้มาก ๆ ปฏิบัติตัวเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น

6. อาการที่จะบอกว่าโรคประจำตัวรุนแรง คือ อาการปวดศีรษะตื้อ ๆ เครียด ๆ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่รุนแรง อุบัติการณ์ ของโรคนี้มีประมาณ 3-5% ของผู้ตั้งครรภ์ มักมีอาการหรือมีอาการมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น มักพบในระยะครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ (20 สัปดาห์ไปแล้ว) ถ้าตรวจพบได้ตอนเริ่มต้นเป็น จะลดภาวะแทรกซ้อนและลดอันตรายได้
  ขอบคุณข้อมูลจากนพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

เบาหวานในสตรีมีครรภ์ และสุขภาพของทารกในครรภ์และแรกเกิด





สตรี ตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน  ทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติแต่กำเนิดมากขึ้นกว่าปกติ และทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะขาดออกซิเจนตอนอยู่ในครรภ์ ทำให้เสียชีวิตและมีโอกาสทำให้ทารกแรกเกิดมีความผิดปกติด้านเมตาโบลิก และอื่นๆ ด้วยดังนี้

-  การขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์ที่มารดาเป็นเบาหวาน
เกิด จากการลำเลียงออกซิเจนจากมารดาไปทารกบกพร่อง จากเลือดแม่ผ่านรกน้อยลง ตัวรกเองก็ผิดปกติด้วย ทำให้นำออกซิเจนได้น้อยลงไปอีกที่จะไปถึงลูก ถ้าแม่มีความดันโลหิตสูงร่วมกับเบาหวาน ยิ่งทำให้เลือดมารดาส่งออกซิเจนไปรกน้อยลงอีก จากการหดตัวของเส้นเลือดมารดา และการแข็งตัวของหลอดเลือดฝอยในรก

ผลคือ ทำให้ทารกขาดออกซิเจน ทำให้ทารกเติบโตช้า อาจถึงเสียชีวิตในครรภ์ ถ้าเป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตก่อน 36 สัปดาห์ ถ้าเป็นไม่รุนแรงมาก อาจเสียชีวิตหลัง 36 สัปดาห์  ถ้ารอดจนสามารถคลอดออกมาได้ ก็จะทำให้มีอาการตัวเหลืองมากกว่าธรรมดาด้วย

-  ความผิดปกติด้านเมตตาโบลิก ในทารกแรกเกิด
ภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ  :  เกิดจากน้ำตาลในเลือดแม่สูง  ถูกส่งไปยังทารก  ทำให้ตับอ่อนทารกสร้างอินซูลินในร่างกายออกมามาก  ภายหลังคลอดตัดสายสะดือ  น้ำตาลในเลือดแม่ถูกตัดขาดด้วย  ทำให้อินซูลินที่มีอยู่ทำให้น้ำตาลในเลือดลูกต่ำเกิน ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้หยุดหายใจ หรือ ชักได้  แพทย์อาจต้องให้น้ำตาลกับลูกทางสายน้ำเกลือ

-  ภาวะแคลเซี่ยมต่ำในเลือดทารก
เชื่อว่าเกิดจากการขาดออกซิเจนเรื้อรังจากในครรภ์  และ/หรือ การคลอดก่อนกำหนดร่วมด้วย  ทำให้เกิดอาการชักได้ 

-  ความหนาแน่นของกระดูกต่ำ

จากบทความนี้  จึงเป็นเครื่องเตือนใจสตรีที่ตั้งครรภ์แล้วเป็นเบาหวานร่วมด้วย  จะต้องดูแลตัวเองในการควบคุมเบาหวานให้ดี  เพื่อการเจริญเติบโตและสุขภาพที่ดีของทารกในครรภ์และช่วงแรกเกิดด้วย

(บท ความนี้  คัดย่อและเรียบเรียงมาจาก  บทความวิชาการโดย นพ.ทัญญู  พันธุ์บูรณะ  คณะอนุกรรมการอนามัยแม่และเด็กราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  ในสูตินรีแพทย์สัมพันธ์  ปีที่ 18  ฉบับที่ 10  เดือนตุลาคม  2552)

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การตั้งครรภ์นอกมดลูก

 

การตั้งครรภ์นอกมดลูกคืออะไร
การ ตั้งครรภ์นอกมดลูกคือภาวะที่ตัวอ่อนที่มีปฏิสนธิแล้วไปเจริญเติบโตที่อื่น นอกจากในโพรงมดลูก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ (95%) มีส่วนน้อยเกิดขึ้นที่อื่น ๆ  เช่นที่รังไข่ ที่ปากมดลูกและในช่องท้องเป็นต้น โอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกมีประมาณ 1-2 % ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด

อันตรายที่เกิดจากการตั้งครรภ์นอก มดลูกคือ อวัยวะที่มันไปฝังอยู่จะแตกและมีเลือดออกในช่องท้อง สมัยก่อนศตวรรษที่ 19 คนที่ตั้งครรภ์นอกมดลูกจะเสียชีวิต 50% แต่ปลายศตวรรษที่ 19 อันตรายจากภาวะดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 5 % เท่านั้น เพราะมีการรักษาโดยการผ่าตัด แต่สมัยนี้มีการวินิจฉัยได้เร็วขึ้นมาก อัตราการตายจึงลดลงเหลือน้อยกว่า 5 ต่อ 10,000

อะไรทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
ปัจจัย เสี่ยงแรกที่ทำให้เกิดตั้งครรภ์นอกมดลูก คือต้องมีประวัติตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน มีประวัติอักเสบในอุ้งเชิงกราน เคยผ่าตัดเกี่ยวกับท่อนำไข่ เป็นโรคเยี่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ เป็นเนื้องอกมดลูก มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน และตั้งครรภ์ขณะที่มีห่วงคุมกำเนิดอยู่ในมดลูก จึงต้องคอยระมัดระวังสำหรับคนที่มีอาการดังกล่าวมาแล้วนี้

บรรดาความ เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกมากที่สุด  คือ เคยมีประวัติตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อนเพราะมีโอกาสเกิดซ้ำถึง 15 % หลังจากเป็นครั้งแรกและถึง 30 % หลังจากเคยเป็น 2 ครั้ง แล้ว

รองลง มาคือ หลังจากมีอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งมักจะเกิดจากเชื้อกามโรคหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อหนองใน  เชื้อหนองในเทียม เป็นต้น การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นสาเหตุได้ ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบที่หนองแตกกระจายเข้าไปในท้อง

การอักเสบที่ทำให้เยี่อ บุท่อนำไข่เสียหาย ตัวอ่อนเดินทางเข้าไปในมดลูกไม่ได้ จึงค้างอยู่ที่ท่อนำไข่ ปกติภายในท่อนำไข่จะมี เฃลล์ ที่คล้ายนิ้วมือเล็ก ๆ คอยโบกให้ตัวอ่อนเคลื่อนตัวเข้าไปในมดลูก เมื่อเยื่อเหล่านี้เสียหายก็ทำให้การเคลื่อนตัวของตัวอ่อน เป็นไปไม่ได้จึงเกาะและเจริญที่ท่อนำไข่แต่ท่อนำไข่เล็กและบางมาก จึงแตกออกและมีเลือดไหล เมื่อตัวอ่อนโตมากขึ้น

การเกิดเยื่อบุโพรง มดลูกที่ขึ้นผิดที่หรือเนื้องอกมดลูกหรือพังผืดก็ทำให้ท่อนำไข่ถูกเบียดให้ ตีบได้ หลังการผ่าตัดแก้ไขท่อนำไข่ที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากหรือการผ่าตัด แก้หมันก็ทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ 5 %

ตัวเลขที่ฟังแล้วน่า ตกใจคือ คนที่ตั้งครรภ์ขณะมีห่วงคุมกำเนิดในมดลูกจะเป็นท้องนอกมดลูกถึง 50% แต่ความจริงแล้ว เกิดได้น้อยมาก เพราะโอกาสตั้งครรภ์ขณะมีห่วงคุมกำเนิดมีน้อยมาก

อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
อาการ เริ่มแรกของการตั้งครรภ์นอกมดลูกมักไม่ค่อยชัดเจน แต่มักมีประวัติขาดประจำเดือนมาก่อน แล้วมีอาการปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด อาการปวดเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ร้าวไปหัวไหล่และอาการอ่อนเพลีย อาการมักรุนแรงที่ข้างใดข้างหนึ่งของท้องมากกว่าอีกข้างมีอาการอ่อนเพลีย เพราะเสียเลือด แต่อาการเหล่านี้ก็มีได้กับคนที่มีถุงน้ำในรังไข่ คนแท้งบุตรที่ตั้งครรภ์ในมดลูก แต่ถ้าเป็นมาก ๆ  คนไข้จะมีอาการเสียเลือด คือใจสั่น เป็นลมเวลายืน ซีด เพราะการเสียเลือดเข้าไปในท้อง

การวินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูก
สิ่ง แรกคือการซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  แพทย์อาจตรวจคลำได้ก้อนที่มีอาการเจ็บในท้องน้อย การตรวจเลือดหาฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ การทำอัลตราซาวด์ การขูดมดลูก และการผ่าตัดส่องกล้องตรวจในช่องท้องก็ช่วยในการวินิจฉัย ถ้ามีอาการมาก ๆ ชัดเจน การตรวจพบก็เร็วขึ้น  ถ้ามีอาการน้อย  ๆ อาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์กว่าจะวินิจฉัยได้

การตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมนของการตั้งครรภ์

ใน กรณีที่มีอาการน้อย ๆ จะช่วยการวินิจฉัยที่ถูกต้องได้ดี และรวดเร็ว โดยใช้หลักการว่า ฮอร์โมนการตั้งครรภ์(bHCG)  จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในกระแสเลือดจากการตั้งครรภ์ ถ้ามีการเพิ่มขึ้นไม่เป็นตามธรรมชาติของการตั้งครรภ์ อาจเกิดจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก

การทำ Ultrasound ขณะตั้งครรภ์โดยไม่เห็นถุงตัวอ่อนในมดลูก การขูดมดลูกโดยได้เนื้อออกมาไม่มีลักษณะของเนื้อเยื่อจากการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นของตัวอ่อนออกมาให้เห็น  เหล่านี้ก็อาจจะเป็นตั้งครรภ์นอกมดลูก

การ ทำผ่าตัดส่องกล้องในท้อง คือสอดกล้องเล็ก ๆ ผ่านผนังหน้าท้องตรงสะดือ เข้าไปดูในท้องก็จะเห็นได้ชัดเจน ถ้าเป็นท้องนอกมดลูกและมีเลือดออก วิธีนี้จะเป็นวิธีที่รักษาได้ในเวลาเดียวกันได้เลย

อันตรายของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
ครรภ์ นอกมดลูกในบางคนที่เป็นแล้วสลายตัวไปเองโดยไม่ทำให้เกิดอาการอะไรรุนแรง ก็จะหายไปเองได้โดยการสังเกตอาการไม่ต้องให้การรักษาอะไร แต่แพทย์จะกลัวเรื่องการมีอันตรายจากเลือดออกในท้องมากกว่า เพราะถ้าปล่อยให้เลือดออกในท้อง กว่าจะทราบว่าถึงขั้นอันตรายก็เป็นมากแล้ว และโดยทั่วไปเลือดที่ไหลออกมาจะระคายเคืองเยื่อบุช่องท้องหรืออวัยวะภายใน ช่องท้องทำให้มีอาการปวดมากจนคนไข้จะทนไม่ได้

การมีเลือดออกมาก ๆ ถ้าไม่เอาออก ก็ทำให้เกิดพังผืดในภายหลังได้ และรอยแผลของท่อนำไข่ตรงท้องนอกมดลูกครั้งก่อนก็เป็นสาเหตุให้เกิดตั้งครรภ์ นอกมดลูกในครรภ์ครั้งต่อไปได้

มีวิธีการรักษาครรภ์นอกมดลูกอย่างไรบ้าง
การ รักษามีตั้งแต่ การเฝ้าสังเกตอาการ การให้ยาเข้าไปทำลาย การผ่าตัดส่องกล้องช่องท้อง และการผ่าตัดช่องท้อง  การที่แพทย์จะเลือกวิธีใดก็แตกต่างกันเป็นราย ๆ  ไป รายที่มีอาการน้อยมากอาจเพียงแต่คอยเฝ้าดูอาการว่าจะหายเอง ในขณะที่ผู้ป่วยที่เสียเลือดจนช็อคก็ต้องรีบผ่าตัด

ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้วิธีผ่าตัดในการรักษา ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ

1. การผ่าตัดส่องกล้องในช่องท้อง และการเปิดแผลใหญ่ที่หน้าท้อง เพื่อเอาส่วนที่ท้องนอกมดลูกออกและหยุดเลือด

2. การผ่าตัดส่องกล้อง จะ เป็นวิธีที่นิยมมากกว่าเพราะแผลเล็กหายเร็วปลอดภัย โรคแทรกซ้อนน้อย การรักษาอาจเป็นแค่เอาส่วนของครรภ์นอกมดลูกออกทางปลายท่อหรือผ่าท่อแล้วเอา ส่วนของครรภ์นอกมดลูกออก หรือตัดท่อนำไข่ข้างนั้นเลย ขึ้นอยู่กับว่าเป็นน้อยหรือมากตามลำดับ

ในปัจจุบันที่เรามีการไปหา แพทย์ ตรวจกันเร็วขึ้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ทำให้เราสามารถวินิจฉัยตั้งครรภ์นอก มดลูกได้ก่อนจะมีอาการแทรกฃ้อน ทำให้สามารถให้ยาเข้าไปทำลายตัวอ่อนและรกอ่อน ๆ ได้ ยานั้นคือ methotrexate ที่เรานำไปใช้รักษามะเร็งหรือภูมิแพ้บางอย่างเช่น SLE ยานี้จะไปทำลาย เฃลล์ตัวอ่อนให้สลาย วิธีนี้ได้ผลดี ปลอดภัย แต่ต้องวินิจฉัยได้เร็ว และต้องติดตามดูแล จนแน่ใจว่าหายแล้ว

เราอาจเคยได้ยินข่าวว่ามีการ ผ่าตัดเอาลูกที่ตั้งครภภ์นอกมดลูกที่ปล่อยจนโตแล้วออกมาได้ เหตุการณ์นี้ถือเป็นข้อยกเว้นเพราะโอกาสเกิดน้อยมาก

สรุป 

- การตั้งครรภ์นอกมดลูก คือ การที่ตัวอ่อนไปฝังตัวที่อื่นนอกจากโพรงมดลูก เกือบทั้งหมดเกิดที่ท่อนำไข่

- สาเหตุของการตั้งครรภ์นอกมดลูกคือโรคที่ท่อนำไข่ทำให้ขัดขวางการเดินทางของตัวอ่อนเข้าไปในมดลูก

- อันตรายของครรภ์นอกมดลูกคือการเสียเลือด

- การวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกายการตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจเลือด ขุดมดลูกและ/หรือการผ่าตัดส่องกล้องตรวจช่องท้อง

- การรักษามีหลายวิธีตั้งแต่ติดตามดูอาการ ให้ยา หรือผ่าตัดขึ้นอยู่กับระยะของโรคและความรวดเร็วของการวินิจฉัย

 ขอบคุณข้อมูลจาก
  นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก และผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์



การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ พบได้บ่อย และสร้างความตระหนกและกังวลใจให้กับผู้ที่ตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก 

สาเหตุของการมีเลือดออก  มี หลายสาเหตุมาก  มีทั้งมีและไม่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์  หรือต่อสุขภาพของมารดาและทารก  ซึ่งอาจแบ่งออกได้ตามสาเหตุว่าไม่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์  และเกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์

สาเหตุที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์   ขณะตั้งครรภ์อาจมีเลือดออกจากอวัยวะสืบพันธุ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์  ได้แก่

1. เลือดออกจากริดสีดวงทวาร  แล้วเข้าใจผิดว่าเป็นเลือดออกทางช่องคลอด

2. เลือดออกจากทางเดินปัสสาวะ  เช่น เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ  กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

3. เกิดจากบาดเจ็บอวัยวะเพศ  จากอุบัติเหตุหรือจากการมีเพศสัมพันธ์

4. โรคของอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนล่าง เช่น แผลจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (หูดหงอนไก่, แผลเริมอ่อน ฯลฯ)  ปากมดลูกอักเสบ  เยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่ที่ปากมดลูก, ติ่งเนื้อ (polyp) ของปากมดลูก  รวมทั้งเนื้องอก เช่น เนื้องอกปากมดลูก  มะเร็งของปากมดลูก

สาเหตุที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์
การมีเลือดออกช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ (ก่อน 20 สัปดาห์)

1. การแท้งบุตร
2. การตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic preg.)
3. การท้องไข่ปลาดุก (molar preg.)


การแท้งบุตร
เลือดออกขณะครึ่งแรกของการ ตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ในช่วง 3 เดือนแรก สิ่งที่เรากลัวคือการแท้งบุตร เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจและติดตาม เพื่อให้แน่ใจว่าใช่การแท้งบุตรหรือไม่ ได้แก่ การซักประวัติเหตุการณ์เลือดออก การตรวจภายใน การทำอัลตราซาวนด์ดูถุงของการตั้งครรภ์และทารก (ในระยะแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ การตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดจะได้รายละเอียดที่แม่นยำกว่าการตรวจ ผ่านทางหน้าท้อง) การตรวจฮอร์โมนของการตั้งครรภ์และการตกไข่ (HCG และ Progesterone) เพื่อดูความสมบูรณ์ของการตั้งครรภ์

การมีเลือด ออกระหว่างช่วงตั้งครรภ์ในระยะแรกนี้ การตรวจละเอียดจะช่วยบอกด้วยว่าเป็นการตั้งครรภ์ในมดลูกหรือนอกมดลูก (แต่ละคนมีโอกาสท้องนอกมดลูก 1 ใน 60)

การมีเลือดออกจากมดลูกไม่ได้ ว่าจะเกิดการแท้งเสมอไป มีหลายคนที่มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ 1-2 เดือนแรก และไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น เข้าใจว่ามีเลือดออกขณะมีการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก ผู้เขียนเคยพบในคนที่มีเนื้องอกในมดลูกแล้วมีการฝังตัวใกล้เคียงกับเนื้องอก มดลูกและมีเลือดออกเป็นเวลาหลายวันโดยเห็นตำแหน่งของเลือดออกจากการตรวจอัล ตร้าซาวนด์

ถ้าเกิดจากที่จะแท้งบุตรส่วนใหญ่จะเกิดการแท้งขึ้นภายใน 12 สัปดาห์แรก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในคนตั้งครรภ์ทั่ว ๆ ไป 15-20 % ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากตัวอ่อนหรือทารกมีความผิดปกติ ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อทารกเสียชีวิต ก็จะมีอาการตามมา โดยเริ่มต้นที่มีเลือดออกก่อน แล้วมีอาการปวดท้องจากการบีบตัวของมดลูก และมีเนื้อเยื่อของตัวอ่อนออกมา

มีการศึกษาทำสถิติว่าคนตั้งครรภ์มี เลือดออกร่วมกับการปวดท้องน้อย มีการแท้งเกิดขึ้น 50% เมื่อมีการแท้งในขนาดของครรภ์น้อยกว่า 8 สัปดาห์ มักหลุดมาเองหมด ถ้าเกิน 8 สัปดาห์ มักออกมาเองไม่หมด ต้องให้แพทย์ช่วยเอาออก โดยการดูดด้วยสุญญากาศ หรือขูดมดลูก

ถ้าคุณตั้งครรภ์มีเลือดออกแล้วมีเศษชิ้นเนื้อออกมา ด้วย ให้เก็บไว้ให้แพทย์ดูด้วยว่าเป็นเนื้อของทารกหรือรกหรือเปล่า ถ้าใช่แปลว่าคุณมีการแท้งออกมา และเป็นการแท้งท้องในมดลูก ถ้าไม่ใช่ส่วนของทารกหรือรก เป็นเยื่อบุมดลูกธรรมดา อาจไม่ใช่การแท้งหรือแท้งยังไม่ออก หรือเป็นการท้องนอกมดลูกได้ (ซึ่งอาจต้องมีการรักษาแบบท้องนอกมดลูกรีบด่วน)

การแท้งโดยทั่วไปมัก เกิดจากความผิดปกติของตัวอ่อน ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการออกแรงยกของ การออกกำลังกายและการมีเพศสัมพันธ์ การนั่งรถทางไกล การนั่งเครื่องบินโดยสาร เป็นสาเหตุทำให้เกิดการแท้ง และเมื่อมีการแท้งแล้วไม่ได้หมายความว่าจะท้องอีกไม่ได้ นอกจากคนที่แท้ง 2-3 ครั้งติด ๆ กัน ควรจะให้แพทย์หาสาเหตุว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายเรา

การตั้งครรภ์นอกมดลูก คือ การตั้งครรภ์ที่ตัวอ่อนไปเกาะที่อื่นนอกจากในโพรงมดลูก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ท่อนำไข่ (เดินทางไปไม่ถึงมดลูก) เกิดขึ้นได้ 1 ใน 60 ของการตั้งครรภ์ทั่วไป มีอาการเริ่มแรกคล้ายการตั้งครรภ์ธรรมดา และจบด้วยการมีเลือดออก ปวดท้องเหมือนการแท้ง แต่การท้องนอกมดลูกมักทำให้ท่อนำไข่แตกก่อนแท้ง และทำให้มีเลือดออกในช่องท้องได้เป็นจำนวนมาก จนทำให้มีอาการช็อกได้ถ้าตรวจรักษาช้า ท้องนอกมดลูกจะเกิดมากขึ้นในคนที่มีอักเสบในอุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ เคยผ่าตัดบริเวณท่อนำไข่ คนที่เคยท้องนอกมดลูกมาก่อน (มีโอกาสเกิดซ้ำ 15%) และคนที่มีประวัติมีบุตรยาก

การตั้งครรภ์ไข่ปลาดุก พบ ได้น้อย เป็นการท้องในมดลูก แต่ผิดปกติคือทารกไม่เจริญแต่มีลักษณะรกผิดปกติ ลักษณะเป็นเนื้องอกของรก การตั้งครรภ์ระยะแรก ๆ อาจจะไม่ทราบแต่ต่อมาท้องมักโตกว่าปกติ และมีอาการเลือดออก ซึ่งอาจมีเศษเนื้อเยื่อลักษณะคล้ายเม็ดสาคูหรือถุงไข่ปลาหลุดออกมาด้วย ทำอัลตราซาวนด์ไม่เห็นตัวเด็ก ไม่เห็นถุงของการตั้งครรภ์เห็นแต่เนื้อรก ถ้าเป็นแบบนี้ต้องขูดมดลูกหรือดูดออก แล้วติดตามดูแลมากกว่าปกติ

การมีเลือดออกครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ (เกิน 20 สัปดาห์)
การ มีเลือดออกในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ต้องเอาใจใส่มากขึ้น เพราะมักเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ และถ้ามีเลือดออกมาก ๆ มักเป็นความผิดปกติของรก ได้แก่ ภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด และอาจเป็นอาการของการคลอดก่อนกำหนด

ภาวะรกเกาะต่ำ หมาย ถึง รกมาปิดปากมดลูกไว้ ปกติรกต้องไม่เกาะตรงปากมดลูก เพราะเวลาจะคลอด ปากมดลูกจะต้องขยายตัวออกให้เด็กผ่านออกมา ถ้ารกเกาะที่ปากมดลูกเวลามดลูกหดตัวให้ปากมดลูกเปิดจะทำให้รกบริเวณปากมดลูก ลอกออก (เพราะรกขยายตัวด้วยไม่ได้) จึงทำให้เลือดออกมาโดยทั่วไปก็เป็นเลือดของแม่ออกจากปากมดลูกที่ฉีกขาด มักเกิดตอนที่ปากมดลูกยืดตัวเตรียมจะเปิด มักเป็นก่อนถึงกำหนดคลอดจริง ลักษณะคือ มีเลือดออกทางช่องคลอดมากโดยไม่ปวดท้อง ถ้าเลือดออกน้อย ๆ ก็รอดูอาการได้ ถ้าออกมากต้องรีบให้คลอดโดยการผ่าตัด ไม่สามารถคลอดปกติได้ ถ้าจำเป็นต้องคลอดก่อนถึงกำหนดคลอดมาก ๆ อาจมีปัญหาทารกตัวเล็กเกินไป

ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดปกติรกจะมีหน้าที่ถ่ายเท ออกซิเจน อาหารและของเสียระหว่างทารกและแม่ ทำให้ทารกเจริญเติบโตโดยรกติดกับเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งอยู่ที่ผนังด้านในของ มดลูก และเมื่อทารกคลอดก็จะลอกตัวออกมาทางผนังของมดลูก แล้วคลอดตามทารกออกมา แต่มีบางคราวที่รกลอกตัวออกมาจากผนังมดลูกก่อนการคลอด ทำให้มีเลือดระหว่างรกกับผนังมดลูก แล้วไหลเซาะออกมาทางปากมดลูก ทำให้เรารู้สึกว่ามีเลือดออก

การเกิดลักษณะนี้มีผลเสียต่อทารกคือ ทำให้ได้รับออกซิเจนจากแม่น้อยลง เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะถ้าเลือดที่ออกมาเซาะให้เกิดการแยกตัวมากขึ้น ๆ ธรรมชาติจะทำให้มดลูกบีบตัวให้คลอดทารกออกมาโดยเร็ว คนที่มีความเสี่ยงต่อรกลอกตัวก่อนกำหนดคือ

- คนที่เคยคลอดบุตรมาก่อน (เป็นท้องหลัง ๆ )
- อายุมากกว่า 35 ปี
- เคยมีประวัติรกลอกตัวก่อนกำหนดมาก่อน
- มีโรคเลือดบางอย่าง
- มีความดันโลหิตสูง
- ถูกกระแทกที่ท้องรุนแรง
- ติดยาเสพติด หรือสูบบุหรี่

อาการที่เกิดขึ้น คือ จะมีเลือดออกพร้อมกับมดลูกบีบตัวรุนแรง มีอาการปวดท้อง ถ้าเป็นมากจะฟังหัวใจทารกได้ช้าลง แสดงว่าทารกขาดออกซิเจนอยู่ในระดับเป็นอันตราย ทารกเสียชีวิตก่อนได้คลอดออกมา

การคลอดก่อนกำหนด หมายถึง มีการเข้าสู่การคลอดก่อนอายุครรภ์ถึง 37 สัปดาห์ ลักษณะจะต่างจาก 2 เหตุการณ์ที่กล่าวก่อนหน้านี้คือ จะมีการบีบตัวของมดลูกก่อน แล้วเริ่มมีตกขาวมาก ( เป็นมูกถูกไล่ออกมาจากปากมดลูก) อาจมีเลือดปนออกมา ถ้าเกิดขึ้นก่อน 37 สัปดาห์ไม่มากก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าต่ำกว่า 34-35 สัปดาห์อาจมีปัญหากับทารก

อาการคลอดก่อนกำหนดโดยรวม คือ
1. มีมูก หรือ เลือด หรือ น้ำออกทางช่องคลอด มีมากขึ้น
2. ปวดท้องน้อย ร้าวไปด้านหลัง
3. มดลูกแข็งตัวเป็นระยะ ๆ

จะทำอย่างไรเมื่อมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์
ถ้ามีเลือด ออกในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ควรไปโรงพยาบาลทันทีเพราะอาจจะเกิดปัญหาขึ้น ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ครึ่งแรกเลือดออกไม่มาก ไม่ปวดท้อง อาจไม่จำเป็นต้องรีบร้อนมากเท่า แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน แต่ถ้าเลือดออกมากและมีอาการปวดท้องด้วยก็ไม่ควรนอนใจ

สรุป
การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะที่ออกไม่มาก มักเป็นสิ่งที่ไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายได้ จึงควรไปรับการตรวจทุกครั้งที่มีเลือดออกเพื่อให้ได้การวินิจฉัยและการรักษา ที่ถูกต้อง การรักษาที่ทันท่วงทีอาจช่วยท่านและบุตรในครรภ์ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก
นพ.ธีรศักดิ์   ธำรงธีระกุล และศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

การตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก


สมัย ก่อนเราจะพบคุณย่าและคุณยายยังสาวอยู่เป็นจำนวนมากแต่ปัจจุบันคนไทยแต่งาน อายุมากขึ้นและยังคุมกำเนิดต่ออีกทำให้เกิดการตั้งท้องตอนอายุมาก เด็กที่เกิดจากสตรีที่มีอายุมากส่วนใหญ่จะปกติแต่ก็พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่ม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนการมีบุตร

เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปอัตราการตั้งครรภ์จะลดลงเนื่องจากมีการตกไข่ลดลง คุณภาพของไข่ลดลง อาจจะมีการอักเสบในช่องท้องทำให้เกิดพังผืดมากขึ้น แม้ว่าจะตั้งครรภ์ยากแต่ครรภ์แฝดมักจะเกิดในช่วงอายุ 35-39 ปี หากท่านอายุมากกว่า 30 ปี มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอแล้วยังไม่มีบุตร  ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ขณะตั้งครรภ์เมื่ออายุมากมีผลต่อสุขภาพอย่างไร
การ ตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์สำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีมีความจำเป็นเนื่องจากอายุมากขึ้นก็จะมีโรค ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เบาหวานขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น การควบคุมโรคก่อนการตั้งครรภ์จะช่วยลดโรคแทรกซ้อนได้ พบว่าคนท้องที่อายุมากกว่า 35 ปีจะเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์สูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่าเมื่อเทียบกับอายุ 20 ปี

อายุมากขณะตั้งครรภ์กับการพิการแต่กำเนิด
พบว่าโรค Down syndrome จะเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ตั้งครรภ์อายุ 25 ปีคลอดผิดปกติ 1 รายจากจำนวนคลอดปกติ 1250 ราย แต่ถ้าอายุ 35 ปีจะพบคลอดผิดปกติ 1 รายจากจำนวนคลอด 106 ราย แนะนำว่าหญิงท้องที่อายุมากกว่า 35 ปีควรจะเจาะน้ำคร่ำตรวจ

อายุมากขณะตั้งครรภ์กับการแท้ง
อัตราการแท้งเพิ่ม ขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น พบว่าอายุ 25 ปีอัตราเสี่ยงต่อการแท้งประมาณร้อยละ 12-15 แต่ถ้าหากอายุ 40 ปีอัตราเสี่ยงของการแท้งประมาณร้อยละ 25 -30

อายุมากขณะตั้งครรภ์มีผลต่อเด็กหรือไม่
● อายุขณะตั้งครรภ์มากจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องรกผิดปกติมากขึ้นคือ รกเกาะต่ำ รกลอกก่อนคลอด
● เด็กที่คลอดอาจจะมีน้ำหนักน้อยกว่าคนท้องที่อายุน้อย
● เนื่องจากแม่อาจจะไม่แข็งแรง เด็กอาจจะเกิดความเครียดขณะคลอด ทำให้ไม่แข็งแรง

อายุมากขณะตั้งครรภ์มีผลต่อการคลอดหรือไม่
เมื่อ อายุมากขึ้นจะพบว่าคลอดลำบากทำให้ต้องผ่าตัดหน้าท้องมากขึ้นพบว่าหากท้องแรก อายุ 30 ปีจะมีอัตราการคลอดโดยวิธีผ่าตัดเพิ่มร้อยละ30 แต่ถ้าหากอายุมากกว่า35 ปี จะมีอัตราการคลอดโดยวิธีผ่าตัดเพิ่มร้อยละ 80

ท่านจะลดอัตราเสี่ยงได้อย่างไร● รับประทานวิตามิน โฟลิก 400 มิลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
● ให้ตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์และฝากท้องตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
● ให้คุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
● เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
● งดดื่มสุรา
● งดบุหรี่
● เลิกซื้อยารับประทานเอง

เมื่อตั้งท้องต้องตรวจพิเศษอะไรบ้าง
ที่สำคัญคือต้องเจาะน้ำคร่ำตรวจ Chromosome เพื่อตรวจว่าเด็กเป็นโรค Down syndrome หรือไม่

ขอบคุณข้อมูลจาก
นพ.ธีรศักดิ์  ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก และผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเว